เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 8 ตุลาคม 2558 ที่ผ่านมา สำนักงานพัฒนาทรัพยากรบุคคลร่วมกับศูนย์เสริมสร้างการเรียนรู้และการสอน (CELT) ได้พาบุคลากรใหม่สายวิชาการ หรือ NAS รุ่นที่ 6 เดินทางไปยัง มจธ.ราชบุรี เพื่อดูการเรียนการสอนใน Module ไฟฟ้าของนักศึกษาชั้นปีที่ 1 ซึ่งเป็นการเรียนการสอนที่แบ่งออกเป็นการเรียนการสอนห้องใหญ่เวลา 08.30-10.30 น. หลังจากนั้นจะเป็นการสอนในห้องย่อย นักศึกษาจะถูกแบ่งเป็นกลุ่มย่อยเพื่อทำแบบฝึกหัด และนำเนื้อหาที่ได้เรียนในห้องใหญ่ไปประยุกต์ใช้ โดยมีอาจารย์ประจำห้องย่อยช่วยเป็น Facilitator หลังจากนั้น NAS ได้ร่วมแลกเปลี่ยนข้อมูลจากการสังเกตชั้นเรียนทั้งห้องใหญ่และห้องย่อย มีประเด็นด้านเทคนิคการเรียนการสอนที่แตกต่างกัน การจัดสภาพแวดล้อมให้เหมาะกับการเรียนรู้ การสร้างการมีส่วนร่วมของผู้เรียน และการปฏิสัมพันธ์ระหว่างผู้เรียนและผู้สอน
นอกจากนี้ยังได้รับเกียรติจาก รศ.ดร.สมชาย จันทร์ชาวนา รองอธิการบดี มจธ.ราชบุรี และ ดร.ทรงพล ชื่นคำ อาจารย์ประจำมจธ.ราชบุรี มาให้ข้อมูลแนวคิด และหลักสูตร ของการจัดการเรียนการสอนใน มจธ.ราชบุรี ซึ่งทำให้เห็นถึงความต้องการสร้างบัณฑิตที่เป็น Change Agent และนำไปสู่การออกแบบหลักสูตร การเรียนการสอน และวิธีการสอนที่แตกต่างจาก มจธ.บางมด
Month: October 2015
ขอเชิญทุกท่านเข้าฟังการบรรยายสาธารณะ LI PSI Talk ครั้งที่ 3 ในหัวข้อ The Physics of Space-time
NAS รุ่นที่ 6 กิจกรรมหัวข้อ “ก่อนจะสอนในมจธ. (2): Course Syllabus Design”
เมื่อวันศุกร์ที่ 2 ตุลาคม 2558 ที่ผ่านมา สำนักงานพัฒนาทรัพยากรบุคคลร่วมกับศูนย์เสริมสร้างการเรียนรู้และการสอน (CELT) จัดกิจกรรมอบรมในหัวข้อ “ก่อนจะสอนในมจธ. (2): Course Syllabus Design” ได้รับเกียรติจาก รศ.ดร.บัณฑิต ทิพากร รองอธิการบดีฝ่ายพัฒนาการศึกษา และดร.กลางใจ สิทธิถาวร เป็นวิทยากร
โดยกิจกรรมในวันนี้เป็นการ Workshop การออกแบบรายวิชาให้เป็น Outcome based คือการออกแบบการเรียนการสอนโดยยึดสิ่งที่ผู้เรียนต้องรู้เป็นหลักหรือต้องบอกได้ว่าเมื่อเรียนวิชานี้ไปแล้วผู้เรียนจะทำอะไรได้บ้าง ทำอะไรเป็นบ้าง ซึ่งหมายถึงการออกแบบทั้งกิจกรรมการเรียนการสอน วิธีการสอน และวิธีวัดและประเมินผลลัพธ์จากการเรียนรู้ที่เกิดขึ้นกับผู้เรียน หรือ Outcome ที่กำหนดไว้
การอบรมเน้นให้อาจารย์รู้จัก Learning Outcome = Result of Learning ผู้สอนจะต้องสามารถบอกได้ว่าผู้เรียนทำอะไรได้ ทำได้ดีขึ้นขนาดไหน ต้องระบุได้ว่าสมรรถนะที่นักศึกษาควรทำได้/ควรมี/ควรเป็น คืออะไรบ้าง (Learning outcome) และออกแบบการเรียนการสอน (Pedagogy) กิจกรรมการเรียนรู้ให้สามารถตอบผลลัพธ์การเรียนรู้ที่คาดหวังนั้นๆ หลังจากนั้นได้ให้อาจารย์ลองออกแบบรายวิชาโดยเริ่มจากกำหนด Learning Outcome ของรายวิชา และนำไปสู่การออกแบบวิธีการสอน กิจกรรมที่ใช้ และวิธีการวัดประเมินให้ตรง และแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกันเกี่ยวกับ Learning Outcome และวิธีการสอนต่างๆ ว่าเหมาะสมหรือไม่อย่างไร ควรปรับปรุงอย่างไร ซึ่งอาจารย์สามารถนำหลักคิดนี้ไปใช้ได้จริงในการออกแบบรายวิชาของตนเอง
NAS รุ่นที่ 6 กิจกรรมหัวข้อ “การวัดประเมินผลการเรียนรู้ตามกรอบมาตรฐาน TQF”
เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 24 กันยายน 2558 สำนักงานพัฒนาทรัพยากรบุคคลร่วมกับศูนย์เสริมสร้างการเรียนรู้และการสอน (CELT) จัดกิจกรรมอบรมในหัวข้อ “การวัดประเมินผลการเรียนรู้ตามกรอบมาตรฐาน TQF” โดย รศ.ดร. องอาจ นัยพัฒน์ จากภาควิชาการวัดผลและวิจัยการศึกษา คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ให้แก่บุคลากรใหม่สายวิชาการ โดยในกิจกรรมได้ให้แนวคิดพื้นฐานของการวัดและประเมินผลในศตวรรษที่ 21 เพื่อให้อาจารย์เข้าใจหลักคิดของการวัดและประเมินเพื่อพัฒนาการเรียนรู้ของนักศึกษา โดยเน้นให้เห็นถึงความแตกต่างของ การวัด (Measurement) การประเมิน (Evaluation) และการวัดประเมิน (Assessment)
กระบวนทัศน์ใหม่ของการวัดประเมินคือ Assessment ซึ่งครอบคลุมทั้งการวัดและการประเมิน (ผล) และสิ่งที่ไม่ใช่การวัด ผู้สอนต้องทำหน้าที่เป็น Assessor กล่าวคือนอกจากการวัดประเมินผู้เรียนแล้ว ผู้สอนยังสามารถให้ Feedback ที่เป็นประโยชน์ต่อผู้เรียนเพื่อใช้ในการพัฒนาตนเองต่อไปได้ในช่วงเวลาที่เหมาะสมและทันการณ์
โดยผู้สอนยังต้องใช้แนวทางการวัดประเมินโดยวิธีการ เครื่องมือที่หลากหลายและยืดหยุ่น เพื่อวัดและประเมินผลลัพธ์การเรียนรู้ที่เป็นทักษะปัญญาขั้นสูง และทักษะการเรียนรู้ต่างๆ ในศตวรรษที่ 21 เน้นการวัดประเมินตามสภาพจริง (Performance based) เช่น กำหนดโจทย์ ให้ปฏิบัติหรือแก้ปัญหาโดยใช้กิจกรรมหรืองานที่อยู่ในโลกแห่งความเป็นจริง เน้นให้ผู้เรียนสะท้อนผลการเรียนรู้ และผู้สอนสะท้อนผลการจัดการเรียนรู้ของตน (self-reflection)
“นักวัดที่ดีต้องสามารถกระตุ้นให้ผู้เรียนถามตัวเองได้ว่า ที่ผ่านมาผู้เรียนมีวิธีการเรียนรู้อย่างไรจึงมีผลการเรียนแบบนี้ และจะปรับปรุงแก้ไข พัฒนาตนเอง หรือผู้สอนสามารถช่วยเหลือผู้เรียนได้อย่างไรบ้าง”