Visual Thinking เป็นได้มากกว่าการจดบันทึก
เรียบเรียงโดย ทีม CELT
ในการฟังบรรยาย การสอน สัมมนา การประชุม หรือการนำเข้าข้อมูลจำนวนมากในระยะเวลาอันจำกัด เราจะมีวิธีจดจำข้อมูลเหล่านั้นอย่างไร
ปัจจุบันได้มีเครื่องมือ ที่ชื่อว่า Visual Note Taking เข้ามาช่วยในการจดบันทึก โดยเป็นการใช้ภาพวาด สัญลักษณ์ต่าง ๆ เข้ามาช่วยให้การจดบันทึกนั้นมีประสิทธิภาพ เห็นภาพรวมและสวยงามน่าสนใจมากยิ่งขึ้น ซึ่งเป็นการพัฒนามาจากการคิดให้เห็นถึงการเชื่อมโยงเนื้อหาเข้ากับภาพต่าง ๆ หรือที่เรียกว่า Visual Thinking
บทความนี้จะนำเสนอให้เห็นถึงมุมมองอื่นของการประยุกต์ใช้หลักการของ Visual Thinking ไปใช้ในงานรูปแบบอื่น ๆ ที่น่าสนใจและเป็นประโยชน์ต่อการทำงาน นอกเหนือจากการสอน และการจดบันทึก ดังนี้
Visual Thinking ในการบริหารงานและบริหารทีม โดย น.ส.กุลชรีย์ พิมพิน นักพัฒนาการศึกษา สำนักงานพัฒนาการศึกษาและบริการ
การทำงานร่วมกัน (Teamwork) เป็นปัจจัยหนึ่งที่มีความสำคัญ เพื่อนำไปสู่ผลสำเร็จตามเป้าหมายของโครงการ หรืองานต่าง ๆ ซึ่งการบริหารทรัพยากรบุคคล หรือสมาชิกในทีมจึงเป็นทักษะที่สำคัญ และมีความท้าทายอย่างมาก เพราะนอกจากการบริหารงานตามหลักการเหตุผลแล้วยังต้องคำนึงถึงการจัดการอารมณ์ของสมาชิกอีกด้วย
ซึ่งในการทำงานของทีม Micro credential ได้นำหลักของ Visual Thinking ที่นำการคิดเป็นภาพมาใช้ในการพูดคุยสอบทานความรู้สึกของทีมงานในแต่ละวัน ผ่านบัตรอารมณ์ (Emotions card)
โดยแต่ละวันสมาชิกแต่ละคนสามารถเลือกบัตรอารมณ์ได้ ว่าตนรู้สึกอย่างไรอยู่ เพื่อให้เกิดความเข้าใจความรู้สึกของกันและกัน ลดการพูดกระทบกระทั่งกันระหว่างสมาชิกภายในทีม ทำให้บรรยากาศในการทำงานดีขึ้น
นอกจากนี้ในสถานการณ์ปัจจุบัน ที่ทางทีมพัฒนาวิธีการทำงานเป็น Work from home มากขึ้นดังนั้นการมอบหมายงาน และติดตามงานระหว่างสมาชิก ก็เป็นอีกความท้าทาย โดยทีม Micro credential ได้นำเทคนิคของ Visual มากำหนดกรอบเวลาในการทำงาน เรียกว่า Sprint เพื่อกระจายงานไปยังสมาชิก และนำเทคนิคการเล่าภาพรวมของงาน ติดตามความคืบหน้า ความเชื่อมโยงกันของแต่ละ Task ภายใน Sprint นำเสนอให้สมาชิก และผู้บริหารเข้าใจภาพของงานได้ง่ายขึ้น
Visual Thinking กับการออกแบบสื่อการสอนและใบงาน โดย น.ส.รสิตา รักสกุล นักพัฒนาการศึกษา สำนักงานวิชาศึกษาทั่วไป
ในการเรียนการสอนนอกเหนือจากการบรรยายเนื้อหา กิจกรรม บรรยากาศห้องเรียน อีกส่วนสำคัญต่อการเรียนรู้ก็คือ สื่อการสอนและใบงาน เพราะเป็นเครื่องมือในการสื่อสารกรอบคิดที่จะช่วยให้ผู้เรียนเกิดความเข้าใจ และใช้เป็นแนวทาง (Guideline) ในการบันทึกผลการเรียนรู้ของตนเอง นอกจากนี้ยังช่วยให้ผู้สอนสามารถประเมินผู้เรียนได้ง่ายขึ้น
ซึ่งการสร้างสื่อการสอนและใบงานจะใช้ Visual Concept ทั้งการใช้สี สัญลักษณ์ และ Keyword ที่สั้นกระชับ เพื่อให้มีรูปแบบที่น่าสนใจ ชวนให้ผู้เรียนรู้สึกสนุกที่จะเรียนรู้ และใช้เวลาไม่นานในการทำเข้าใจ เนื่องจากมีการสรุปเนื้อหา ภาพรวม หรือกระบวนการที่สำคัญให้ผู้เรียนในทบทวนก่อนการบันทึกผลลงในใบงาน และยังช่วยให้ผู้เรียนเข้าใจรายละเอียดกิจกรรมได้ง่าย รวดเร็ว ลดข้อผิดพลาดลง อีกทั้งยังเป็นการดึงดูดความสนใจได้อีกด้วย
ตัวอย่างสื่อการสอน
การทำแผนการสอน Course Syllabus ให้น่าสนใจด้วย Visual Thinking โดย ดร.ภาณุ แสง-ชูโต อาจารย์ประจำโครงการร่วมบริหารหลักสูตร มีเดียอาตส์และเทคโนโลยีมีเดียคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์และการออกแบบ
แผนการสอน (Course Syllabus) มีไว้เพื่ออะไร
แผนการสอน (Course Syllabus) จะเป็นเครื่องมือหนึ่งที่ใช้ช่วยสื่อสารระหว่างผู้เรียนและผู้สอน เพื่อให้เกิดความเข้าใจและรับรู้ร่วมกัน โดยแผนการสอนจะทำหน้าที่สะท้อนบอกถึงรายละเอียดในส่วนต่าง ๆ ของข้อมูลเนื้อหา กิจกรรม การบรรยาย การปฏิบัติ การบ้าน และ วิธีการวัดประเมินผล ให้แก่ผู้เรียนได้รับทราบ โดยเฉพาะจะบอกถึงในสิ่งที่ผู้เรียนจะได้รับหรือบอกเป้าหมายสำคัญ เพื่อให้ผู้เรียนสามารถที่จะเตรียมตัว เตรียมความพร้อม หรือสร้างการรับรู้ ซึ่งจะนำพาไปสู่ความเข้าใจที่ตรงกันได้ เป็นการลดปัญหาช่องว่างของการสื่อสารและการเรียนรู้ที่ไม่เข้าใจตรงกันระหว่างผู้เรียนและผู้สอน เป็นการปรับปรุงเพื่อการพัฒนานำไปสู่ผลลัพธ์ของการเรียนรู้ที่มีร่วมกันในชั้นเรียน ที่ตรงใจทั้งผู้เรียนและครบถ้วนเนื้อหาของผู้สอน เกิดประสิทธิภาพและประสิทธิผล ซึ่งสอดคล้องเป็นไปตามวัตถุประสงค์ของรายวิชาที่หลักสูตรได้ออกแบบและกำหนดตามเป้าหมายไว้ได้ และแผนการสอนยังช่วยสะท้อนต่อไปได้อีกว่าผู้สอนจะพัฒนาและออกแบบองค์ความรู้ ทักษะ และทัศนคติอะไรบ้างให้แก่ผู้เรียน
ซึ่งทางผู้สอนได้นำหลักการของ Visual Thinking มาร้อยเรียงสิ่งต่าง ๆ ในรายวิชาของหลักสูตรเข้าด้วยกันทั้งหมด ด้วยการใช้ภาพและแผนผัง ที่แสดงให้เห็นเป็นรูปธรรม
ประโยชน์ของการนำหลักการของ Visual Thinking มาอธิบายแผนการสอน
เพื่อสื่อสารให้ผู้เรียนเข้าใจได้ง่าย และดึงดูดให้ผู้เรียนได้อ่านสนใจติดตาม นอกจากนี้ยังช่วยให้ผู้สอนสะดวกในการทบทวนถึงความคืบหน้าของการสอนในระหว่างเทอม และสามารถชี้แจงอธิบายให้ผู้เรียนได้ทราบถึงเป้าหมายผลลัพธ์การเรียนรู้ ถัดไปในแต่ละครั้งว่ามีการเชื่อมโยงเนื้อหากับกระบวนการสอนที่เป็นลำดับขั้นตอนว่าเป็นอย่างไร และด้วยวิธีการแนวคิดแบบไหน ถึงเป็นที่มาของการใช้ Visual Thinking นำมาประยุกต์ในการทำแผนการสอนนี้