สาระจากกิจกรรมหัวข้อ “ร่ายมนต์สร้างห้องเรียน online ให้มีชีวิต ผ่าน ZOOM”
โดย ผศ.ดร.ปกรณ์ สุปินานนท์
อาจารย์ประจำภาควิชาเทคโนโลยีและสื่อสารการศึกษา คณะครุศาสตร์อุตสาหกรรมและเทคโนโลยี
เรียบเรียงโดย ทีม CELT
ในช่วงก่อนสถานการณ์โควิดที่มีการเรียนการสอนในห้องเรียน ผู้สอนจะยึดหลักการจัดกระบวนการแบบกระบวนกร หรือที่เรียกว่า Facilitator เพื่อสร้างมณฑลพลังแห่งการเรียนรู้ (Flow) ด้วยเทคนิคการจัดกระบวนการไม่ว่าจะเป็นกิจกรรมทางกายภาพ การจัดพื้นที่การเรียนรู้ การใช้โทนเสียง (Voice and tone) การให้ฟีดแบ็กเชิงบวก (Positive feedback) เพื่อให้ผู้เรียนทุกคนอยู่บนพื้นที่พร้อมเปิดรับและแลกเปลี่ยนการเรียนรู้
แต่เมื่อเกิดสถานการณ์โควิด ทำให้รูปแบบการเรียนการสอนและการสร้างบรรยากาศในห้องเรียนนั้นเป็นเรื่องที่ท้าทาย ผู้สอนจำเป็นต้องปรับการสอนเป็นออนไลน์ จึงทำให้เกิดความกังวลว่า ผู้สอนจะมีวิธีการสร้างพลังและห้องเรียนออนไลน์ให้มีชีวิต ผ่านเทคนิค กระบวนการ หรือเครื่องมือต่าง ๆ อย่างไรได้บ้าง
สิ่งหนึ่งที่ช่วยให้ผู้สอนสามารถปรับตัวให้ทันกับการเปลี่ยนรูปแบบการเรียนการสอนอย่างฉับพลันนี้ คือ Team teaching ไม่ว่าจะเป็นการพูดคุยเพื่อแลกเปลี่ยนประสบการณ์และหาแนวทางร่วมกันของทีมผู้สอนเอง หรือการได้รับการสนับสนุนด้านองค์ความรู้ เทคนิคการสอน และเครื่องมือ จากหน่วยงานภายในมหาวิทยาลัยก็ตาม โดยบทความนี้จะกล่าวถึงหลักการ ทฤษฎี เครื่องมือ ที่ผู้สอนสามารถนำมาปรับใช้ในการสอนออนไลน์ได้
การสร้างพื้นที่แห่งการเรียนรู้
Comfort Zone (พื้นที่ปลอดภัย) คือพื้นที่ที่เรารู้สึกปลอดภัย คุ้นชิน อยู่แล้วสบายใจ เช่น การที่ผู้เรียนขอปิดกล้อง ปิดไมค์ เพราะเห็นว่าการเรียนเงียบ ๆ เช่นนี้ ก็น่าจะเพียงพอแล้ว
Fear Zone (พื้นที่แห่งความกลัว) เมื่อเราพร้อมที่จะเรียนรู้ทักษะใหม่ ๆ ความกลัวคือบททดสอบแรกที่ต้องเผชิญ ในฐานะของผู้สอนควรเปลี่ยนตนเองเป็น Partner หรือผู้ร่วมเดินทาง ให้ผู้เรียนรู้สึกว่ามาเรียนกับเราแล้วรู้สึกปลอดภัย ทำให้กล้าก้าวออกจาก Comfort Zone ได้
Learning Zone (พื้นที่แห่งการเรียนรู้) พื้นที่ที่เราได้เรียนรู้สิ่งใหม่ ๆ พร้อมเผชิญกับปัญหาและอุปสรรค เพื่อเกิดการพัฒนาตนเองอยู่ตลอดเวลา ผู้สอนจะต้องนำพาผู้เรียนก้าวผ่านความกลัว เพื่อให้เกิดการฝึกฝนและเรียนรู้ทักษะใหม่ ๆ
Growth Zone (พื้นที่แห่งการเติบโต) พื้นที่ของการพัฒนาตนเองเพื่อให้ไปถึงจุดมุ่งหมายที่ตั้งไว้ มีความกระหายที่จะเรียนรู้และพัฒนาตนเองให้เติบโตอยู่เสมอ
สมองกับการเรียนรู้
หลักการทำงานของสมองของมนุษย์แบ่งได้เป็น 3 ส่วนหลักๆ ดังนี้
Neocortex (Thinking Brain ) สมองส่วนหน้า ที่ทำหน้าที่ในการคิด วิเคราะห์ แก้ไขปัญหา เชิงตรรกะและเหตุผล ซึ่งมนุษย์จะมีสมองส่วน Neocortex มากกว่าสิ่งมีชีวิตอื่น ๆ อย่างไรก็ตาม สมองจะพร้อมเปิดรับการเรียนรู้ ผ่านกระบวนการรับรู้จากสมองอีก 2 ส่วนก่อน ที่กระตุ้นให้เกิดความชอบ ความสนใจ และอารมณ์
Limbic Brain (Emotional or Feeling Brain) สมองส่วนอารมณ์ ทำให้หน้าที่ควบคุมอารมณ์ความรู้สึก เมื่อเราพบเจอกับเหตุการณ์ต่าง ๆ ดังนั้น จึงเป็นสิ่งจำเป็นที่ผู้สอนควรให้ความสำคัญในการเชื่อมโยงให้สมองเกิดการเปิดรับการเรียนรู้ผ่านกิจกรรมเชิงบวกก่อนการเข้าสู่เนื้อหาการสอน
Reptilian Brain (Instinctual or Dinosaur Brain) สมองส่วนสัญชาตญาณ ทำหน้าที่ในการตอบสนองเพื่อเอาตัวรอด อยู่ในระดับของจิตใต้สำนึก เป็นการตอบสนองที่ไม่ผ่านกระบวนการคิดวิเคราะห์อย่างรอบคอบ
การทำความเข้าใจในหลักงานทำงานของสมอง จะช่วยให้ผู้สอนสามารถประยุกต์ใช้ในการสอนออนไลน์ เช่นการเปิดเสียงเพลงคลอ การใช้ภาษา จะทำให้คลื่นสมองอยู่ในสภาวะ Alpha ( ความถี่ระหว่าง 8 – 13.9 Hz ) ซึ่งทำให้สมองทำงานสามารถเรียนรู้ได้ดี
หัวใจทฤษฎีตัวยู (The Essentials of Theory U)
มนุษย์เราทุกคนนั้นกลัวอยู่ 3 เสียง คล้ายกับว่ามียักษ์อยู่ 3 ตน ที่อยู่ในตัวตนของมนุษย์ ได้แก่
- เสียงแห่งการตัดสิน จากการบ่น การตำหนิ เปรียบเทียบ หรือตัดสินผู้อื่นในมุมมองของตนเอง
- เสียงแห่งการเย้ยหยัน จากการดูถูก ดูหมิ่น
- เสียงแห่งความกลัว กลัวที่จะเผอิญกับสิ่งใหม่ ๆ ที่ไม่คุ้นเคย
ดังนั้น ผู้สอนก็ควรนำพาผู้เรียนออกจากสภาวะดังกล่าวนี้ ที่จะทำให้กลัวและไม่กล้าออกจาก Comfort zone ส่งผลให้กระบวนการจัดการเรียนการสอนไม่เกิดมณฑลพลังแห่งการเรียนรู้ (Flow)
ผู้นำ 4 ทิศ
ดร. วรภัทร์ ภู่เจริญ ได้จำแนกลักษณะนิสัยของมนุษย์ เพื่อใช้เป็นแนวทางในการเข้าใจตัวเอง เข้าใจผู้อื่น และรู้วิธีการปรับตัวกับผู้อื่นที่แตกต่างจากเรา โดยแบ่งลักษณะนิสัยออกเป็น 4 หมวด ดังนี้
หมวดที่ 1 กระทิง (ฐานกาย)
มีลักษณะนิสัย ดังนี้
- ชอบความรวดเร็ว ทันใจ
- ตัดสินใจจากประสบการณ์
- ชอบปฏิบัติ ลงมือทำ
- กล้าชน กล้าเผชิญหน้า
- ชอบอยู่แนวหน้า กล้าอสดงออก
- ชอบเสี่ยง กล้าท้าทาย
หมวดที่ 2 หนู (ฐานใจ)
- ชอบใช้ใจ มากกว่าใช้กำลัง
- ขี้อาย พูดน้อย
- ประนีประนอม
- ไม่ชอบเผชิญหน้า
- ต้องการเป้นที่รักของคนรอบข้าง
- อะไรก็ได้
หมวดที่ 3 หมี (ฐานคิด สมองฉีกซ้าย)
- ไม่ชอบวุ่นวาย รักสันโดษ
- ชอบวิเคราะห์ข้อมูล เพื่อวางแผน
- มีระเบียบวินัยสูง
- ช้าแต่ชัวร์
- ชอบวิเคราะห์วิจัย
- ทำงานตามคู่มือ ยึดในกฎเกณฑ์
หมวดที่ 4 อินทรี (ฐานคิด สมองฉีกขวา)
- ชอบคิดนอกกรอบ คิดแตกต่าง
- มักไปที่ไม่เคยไปเสมอ
- สนใจไปหมดทุกเรื่อง
- รักอิสระ ไม่ติดกรอบ
- ไม่ชอบทำอะไรซ้ำซากจำเจ
- โปรเจคเยอะ
รูปแบบการเรียนรู้ 4 ขั้น (Learning Journey)
ขั้นที่ 1 คุณไม่รู้ตัวว่าตัวเองไม่มีความสามารถ (Unconscious Incompetence) ผู้สอนต้องทำให้ผู้เรียนรู้ว่าเขาไม่รู้อะไร ไม่มีความสามารถอะไร เนื่องจากเขายังไม่มีประสบการณ์กับสิ่งนั้น ผู้สอนอาจใช้การมอบโจทย์ หรือ Project ที่มีความท้าทายจากเดิม ทั้งนี้ ผู้สอนก็ต้องคอยเป็น Coach เพื่อนำพาเขาไปสู่ความสำเร็จ
ขั้นที่ 2 คุณรู้ตัวว่าตัวเองไม่มีความสามารถ (Conscious Incompetence) เป็นสภาวะที่ทำให้เกิดการตื่นรู้ (Awareness) ส่งผลให้ผู้เรียนแสวงหาความรู้เพื่อสร้างความสำเร็จ
ขั้นที่ 3 คุณรู้ตัวว่าตัวเองมีความสามารถ (Conscious Competence) เป็นสภาวะที่ทำให้เกิดการเรียนรู้หรือการเปลี่ยนแปลง (Learning/Change) และทำบ่อย ๆ ฝึกฝืน จนมีความสามารถ
ขั้นที่ 4 คุณไม่สงสัยว่าตัวเองมีความสามารถ (Unconscious Competence) สามารถฝึกฝนจนเกิดความเชี่ยวชาญ (Second nature) และปฏิบัติจนเป็นนิสัย
การรับรู้กับการเรียนรู้
การที่เราจะเรียนรู้ได้ ต้องเกิดการรับรู้ก่อน ซึ่งการรับรู้นั้นเกิดขึ้นระหว่างการทำงานของสมองส่วนลิมบิค (Limbic brain) ผ่านอวัยวะรับสัมผัสต่าง ๆ ดังนี้
- ตา เรียกว่า จักษุสัมผัส คือการรับรู้ผ่านการมองเห็น
- หู เรียกว่า โสตสัมผัส คือการรับรู้จากการฟัง
- จมูก เรียกว่า ฆานสัมผัส คือการรับรู้ด้วยกลิ่น
- ลิ้น เรียกว่า ชิวหาสัมผัส คือการรับรู้ด้วยการลิ้มรส
- ผิวหนัง เรียกว่า กายสัมผัส คือการรับรู้ความรู้สึกเจ็บ ร้อน หนาว
- สัมผัสคีเนสเซซีส (Kinesthesis) หรือกล้ามเนื้อสัมผัส คือการรับรู้จากการเคลื่อนไหวของอวัยวะต่าง ๆ ของร่างกาย โดยอาศัยประสาทในกล้ามเนื้อเอ็นและข้อต่อของกระดูก
- สัมผัสการทรงตัว (Vestibules Sense) คือการรับรู้ของอวัยวะสัมผัสภายในช่องหูด้านใน
การรับรู้เป็นกระบวนการหรือตีความแห่งการสัมผัสที่มีความหมาย ดังนั้น ผู้สอนจะต้องสร้างกระบวนการรับรู้ให้ผู้เรียน เช่น หากใช้การสอนแบบบรรยาย (Lecture) เพียงอย่างเดียว การเรียนรู้ก็จะเกิดขึ้นได้ระดับนึงเท่านั้น ในขั้น การจำ เข้าใจ แต่หากผู้สอนจัดกระบวนการเรียนรู้ให้เกิดการสัมผัสที่มีความหมายลึกซึ้ง และทำให้ผู้เรียนเกิดการเชื่อมโยงความรู้หรือประสบการณ์เดิมร่วมกับความรู้หรือประสบการณ์ใหม่ได้ ก็จะทำให้ผู้เรียนสามารถเรียนรู้ไปถึงขั้น Apply ได้
กระบวนการ Transformative Learning
ก่อนเกิดการเรียนรู้นั้น ผู้เรียนจะมีประสบการณ์เดิม ความรู้เดิมของตนเอง ผู้สอนต้องเป็นผู้อำนวยการในการเรียนรู้ให้ผู้เรียนเชื่อมโยงประสบการณ์เดิมและประสบการณ์ใหม่ จนเกิดการ Transform องค์ความรู้ใหม่ (Constructionism) และสามารถสร้างความรู้ได้ด้วยตนเอง
เครื่องมือที่สามารถนำมาปรับใช้กับการสอนบน Zoom
การนำเครื่องมือการเรียนรู้มาปรับใช้กับการสอนออนไลน์จะช่วยให้เกิดการสื่อสารแบบสองทาง (Two-way communication) เพื่อสร้างปฏิสัมพันธ์ระหว่างผู้สอนและผู้เรียนในชั้นเรียน
ตัวอย่างเครื่องมือที่นำมาปรับใช้กับการสอนออนไลน์ มีดังนี้
- Quizizz เครื่องมือสำหรับสร้างแบบทดสอบออนไลน์ ผู้สอนสามารถนำมาประยุกต์ใช้ในการประเมินเพื่อพัฒนา (Formative assessment) เพื่อทดสอบความรู้ของผู้เรียนก่อนเรียนหรือหลังเรียน อีกทั้งยังเป็นการสร้างบรรยากาศที่สนุกสนาน โดยผู้สอนสามารถสร้างข้อคำถามได้หลากหลายรูปแบบ เช่น คำถามหลายตัวเลือก (Multiple choice), เลือกตอบ (Checkbox), เติมคำตอบ (Fill in the blank) เป็นต้น ซึ่งผู้สอนสามารถทราบผลการทำแบบทดสอบได้ทันที
- Padlet เครื่องมือสำหรับระดมความคิดเห็น โดยมีหน้าตาและฟังก์ชันการทำงานคล้ายกับการใช้กระดาน Post it ผู้เรียนสามารถเขียนข้อความ แทรกรูปภาพ วิดีโอ เสียง หรือลิงก์เว็บไซต์ได้
- Snap camera โปรแกรมเพิ่มลูกเล่นเอฟเฟกต์ต่าง ๆ ให้กับผู้สอน เพื่อเพิ่มสีสันให้กับห้องเรียนออนไลน์
- Whiteboard zoom เครื่องมือในการเขียนกระดาน Whiteboard ออนไลน์ที่มีอยู่บน Application zoom ผู้สอนสามารถใช้เครื่องมือ Annotate พิมพ์ข้อความ เขียน หรือวาดภาพ เพื่ออธิบายเนื้อหาเพิ่มเติมนอกเหนือจาก slide ที่เตรียมมาหรือใช้เป็นกิจกรรมให้ผู้เรียนสามารถระดมความคิดร่วมกันได้
- Immersive view การตั้งค่ามุมมองที่ให้ความรู้สึกเสมือนจริงในการแสดงผลผู้เรียนบน Application zoom เพื่อให้ผู้เรียนทุกคนรู้สึกว่าอยู่ในบรรยากาศเดียวกัน
- PowerPoint as Virtual background ผู้สอนสามารถแชร์ PowerPoint ให้เป็นฉากหลัง ซึ่งผู้เรียนจะสามารถเห็นทั้งไฟล์เอกสาร และผู้สอนไปในคราวเดียวกัน
ตารางเปรียบเทียบ 3 ตัวช่วยสอนออนไลน์
จากตารางเปรียบเทียบจะทำให้ผู้สอนเห็นความแตกต่างของข้อดีและข้อจำกัดของแต่ละ Application ได้ ซึ่งสามารถทดลองใช้และเลือก Application ที่เหมาะสมกับลักษณะการสอนของตัวผู้สอนเอง
สาระจากสาระจากกิจกรรมหัวข้อ “ร่ายมนต์สร้างห้องเรียน online ให้มีชีวิต ผ่าน ZOOM”
โดย ผศ.ดร.ปกรณ์ สุปินานนท์
อาจารย์ประจำภาควิชาเทคโนโลยีและสื่อสารการศึกษา คณะครุศาสตร์อุตสาหกรรมและเทคโนโลยี
วันอังคารที่ 8 มิถุนายน 2564 เวลา 13.30-15.30 น.
ดูวิดีโอย้อนหลังได้ที่ https://bit.ly/3kgOuB5