Hybrid Learning และการสร้างนวัตกรรมทางการศึกษา
โดย ศ. ดร.เนาวนิตย์ สงคราม อาจารย์ประจำภาควิชาเทคโนโลยีและสื่อสารการศึกษา คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
เรียบเรียงโดย ทีม CELT
ปัจจุบันสถานการณ์โรคระบาด COVID – 19 ทำให้อาจารย์ต้องปรับเปลี่ยนรูปแบบการสอนให้เป็น Online มากขึ้น และทำความรู้จักเครื่องมือหรือเทคโนโลยีช่วยสอนต่าง ๆ เพิ่มเติมอย่างสม่ำเสมอ อาทิ ZOOM Application จากเดิมที่เป็นเพียงจัด VDO Conference ก็สามารถใช้ประโยชน์จากฟังก์ชันต่าง ๆ ได้อีกมากมายทั้งการสร้าง Poll หรือสร้าง Quiz เป็นต้น หรือแม้กระทั่งการทำวิจัยด้านการศึกษา การสร้างนวัตกรรมทางการศึกษาที่จะนำมาปรับใช้กับบริบทการเรียนการสอนในปัจจุบันและอนาคต และถึงแม้สถานการณ์ของโรคระบาดจะเริ่มดีขึ้นแต่นวัตกรรมทางการศึกษาก็จะยังคงพัฒนาต่อไปเรื่อย ๆ โดยปัจจุบันจะถูก เรียกว่า Hybrid Learning ในบทความนี้ชี้ให้เห็นถึงความหมาย และแนวทางการจัดการสอนแบบ Hybrid Learning ในปัจจุบัน
นิยามและทฤษฎี Hybrid Learning มีคนให้ความหมายไว้หลากหลายรูปแบบตามสัดส่วนของการเรียนการสอนในห้อง (Face to Face) และการเรียนการสอน Online โดยสามารถแบ่งตามแนวคิดได้เป็น 3 แบบ ดังนี้
- เรียนร่วมกันผ่านห้องเรียนออนไลน์ – พร้อมแบบทดสอบและงานที่ได้รับมอบหมายจากครู แล้วกลับมาทบทวนกับครูอีกครั้งแบบตัวต่อตัวในห้องเรียน
- แบ่งกลุ่มนักเรียนสอนออนไลน์กับออฟไลน์ – สลับให้มีนักเรียนหนึ่งกลุ่มเรียนในชั้นเรียนตามปกติแบบรักษาระยะห่าง ส่วนกลุ่มอื่น ๆ เรียนสดร่วมกันผ่านห้องเรียนออนไลน์ในช่วงเวลาเดียวกัน
- ผสมผสานกิจกรรมการเรียนรู้ที่โรงเรียนและที่บ้าน – ครูให้คำแนะนำและข้อเสนอแนะต่าง ๆ ในห้องเรียน หลังจากนั้นให้นักเรียนกลับไปทดลองทำที่บ้าน แล้วกลับมาทบทวนอีกครั้งในห้องเรียน
ซึ่งการจัดการสอนแบบ Hybrid Learning ให้มีประสิทธิภาพนั้นจะมีแนวทางดำเนินการจัดการเรียนรู้ 4 ขั้นตอน ดังนี้
ขั้นตอนที่ 1 การสร้างความเข้าใจและจินตนาการ ผู้สอนจะต้องทำความเข้าใจในเนื้อหาและวัตถุประสงค์การสอน
ขั้นตอนที่ 2 การตัดสินใจและออกแบบ ผู้สอนจะต้องเลือกว่าจะใช้รูปแบบการสอน Hybrid รูปแบบใด ต้องนำไปทดสอบ เก็บข้อมูล แล้วนำมาปรับปรุงและออกแบบการสอนจริง
ขั้นตอนที่ 3 การเปิดใช้งานและการดำเนินการ หลังจากเลือกและออกแบบแล้ว ผู้สอนจึงนำมาดำเนินการสอนในชั้นเรียนจริง
ขั้นตอนที่ 4 การตรวจสอบและปรับปรุง ในระหว่างและหลังดำเนินการ ผู้สอนควรมีการตรวจสอบการดำเนินการด้วย เพื่อนำข้อมูลไปพัฒนาหรือปรับแก้การดำเนินการในการสอนครั้งต่อไป
แนวทางการจัดการสอนแบบ Hybrid Learning ในปัจจุบัน สามารถแบ่งเป็น Model ได้ดังต่อไปนี้
Station Rotation Model
เป็นโมเดลที่มีการจัดการเรียนรู้ในห้องเรียนแบบเวียนกลุ่ม โดยการแบ่งกลุ่มผู้เรียนไปทำกิจกรรมต่าง ๆ ในลักษณะ “ฐานการเรียนรู้” ได้แก่ ฐานการเรียนเนื้อหาผ่านบทเรียนออนไลน์ (Online instruction) ฐานการสอนจากครู (Teacher-led instruction) และฐานการทำกิจกรรมร่วมกัน (Collaborative activities and stations)
โดย Model นี้จำเป็นต้องมีการกำหนดแผนการเรียนรู้ที่ชัดเจน การจัดเตรียมวัสดุ อุปกรณ์ เนื้อหา และเวลาที่ชัดเจน สำหรับการเวียนกลุ่มผู้เรียนในแต่ละฐาน โดยแนวทางการสอนนี้จะเหมาะกับผู้เรียนระดับชั้นอนุบาล-ประถม
Lab Rotation Model
ในโมเดลนี้ผู้เรียนจะถูกแบ่งเป็นกลุ่ม โดยมีกลุ่มที่เรียนในห้องแลปออนไลน์ (Learning Lab) และกลุ่มจะเรียนในห้องเรียนปกติ (Direct Instruction) ซึ่งการเรียนในห้องจะมีการทำแลป ในแต่ละกิจกรรมหมุนเวียนกันไป คล้ายกับ Station Rotation Model ซึ่งรูปแบบนี้ก็จำเป็นที่จะต้องมีแผนการเรียนรู้ที่ชัดเจนเช่นกัน
Flipped Classroom Model
แนวทางการสอนนี้เป็นการออกแบบภายใต้แนวคิดที่ว่า “เรียนที่บ้าน ทำงานที่โรงเรียน” โมเดลนี้จะทำให้แผนการสอนมีความยืดหยุ่น ผู้เรียนสามารถเรียนเนื้อหา ออนไลน์ได้ที่บ้าน และมาฝึกปฏิบัติ ทำโครงงาน หรือทำกิจกรรมแลกเปลี่ยนเรียนรู้กันในชั้นเรียน ซึ่งรูปแบบนี้จะต้องมีการออกแบบเนื้อหาออนไลน์ที่ Interactive มากขึ้น
Individual Rotation Model
แนวคิดนี้ผู้เรียนจะเรียนเนื้อหาหลักผ่านการเรียนออนไลน์ ส่วนการพัฒนา Social Skill และ Soft Skill จะมีการออกแบบเนื้อหาให้แตกต่างกันไปตามแต่ละบุคคล สามารถแบ่งได้ด้วยการทดสอบ วิเคราะห์ผู้เรียนก่อนทำกิจกรรมกับผู้สอน ซึ่งมีรูปแบบของกิจกรรมต่าง ๆ เช่น Intervention, Seminar, Direct Instruction, Group Projects, และ Personal training
Flex Model
แนวทางจัดการสอนแบบนี้จะมีความยืดหยุ่นสูงมาก ผู้เรียนต้องมีความรับผิดชอบในการเรียนรู้และการปฏิบัติงานด้วยตนเอง โดยผู้สอนจะเป็นผู้ชี้นำ ให้คำปรึกษา ใช้เทคนิควิธีสอน และจัดบรรยากาศการเรียนรู้ให้ผู้เรียนได้เกิดการเรียนรู้ที่เหมาะสม โดยแนวทางนี้จะเหมาะกับผู้เรียนระดับปริญญาตรี หรือบัณฑิตศึกษา สามารถอ่านเพิ่มเติมได้ที่หนังสือ “14 วิธีสอน” ของ ศ. ดร.ทิศนา แขมมณี
A La carte Model
นักเรียนจะเรียนรู้ผ่านระบบออนไลน์ และสามารถขอคำปรึกษาจากครูผ่านระบบออนไลน์ โทรศัพท์ หรือมาใช้พื้นที่การเรียนรู้กลาง (Cyber lounge) สำหรับการพบปะแลกเปลี่ยน ขอคำปรึกษากับครูได้
Enriched Virtual Model
เป็นลักษณะการเรียนการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย (กศน.) โดยมีการนัดเรียนเนื้อหา Online ได้ แต่จะมีการพบกลุ่มเป็น Face to Face Supplementation ตามศูนย์การเรียนรู้ต่าง ๆ
แนวคิดการนำเทคโนโลยีมาใช้ในการเรียนการสอน
นอกเหนือจากทฤษฎี แนวทางการเรียนการสอนแล้ว เครื่องมือทางเทคโนโลยีผสานทฤษฎีการเรียนรู้ก็เป็นสิ่งสำคัญสำหรับการสอนแบบ Hybrid Learning
ด้านการบริหารจัดการ (Management)
เครื่องมือที่ใช้ในการบริหารจัดการ และใช้ในการสอนจะต้องเป็นเครื่องมือที่ใช้งานง่าย แก้ปัญหาได้ มีความรวดเร็ว และตอลโจทย์การใช้งานได้ทุกที่ทุกเวลา
ด้านการสอน (Instruction)
ผู้เรียนควรจะต้องมี ICT Skills อาทิ การสร้างชิ้นงานด้วยเครื่องมือเทคโนโลยี, การค้นหาข้อมูลที่ตรงตามความต้องการและเป็นจข้อมูลที่ถูกต้อง น่าเชื่อถือ (Searching) การทำกิจกรรมในชั้นเรียน (Activities) และการนำเสนอด้วยเครื่องมือต่าง ๆ (Presenting)
เครื่องมือทางเทคโนโลยีผสานทฤษฎีการเรียนรู้
เครื่องมือทางเทคโนโลยีผสานทฤษฎีการเรียนรู้ที่น่าสนใจ และง่ายต่อการใช้งาน มีดังต่อไปนี้
PowerPoint
เป็นเครื่องมือสำหรับทำสื่อนำเสนอ (Slide Presentation) ซึ่งการทำสื่อที่ดีจะต้องใส่แค่ข้อมูลที่จำเป็น มีการย่อยข้อมูล หรือการเน้นคำสำคัญ นอกจากนี้ยังช่วยให้ผู้เรียนเกิดการทวนซ้ำ (Redundancy) อีกด้วย
Link:
Template ที่ช่วยในการออกแบบ PowerPoint
http://www.free-powerpoint-templates-design.com/free-powerpoint-templates-design/
Graphic ที่สามารถนำไปใช้ประกอบสื่อนำเสนอ
Canva
เป็นโปรแกรมในการช่วยออกแบบ Infographics ที่ช่วยเสริมสร้างความจำระยะยาว (Long term Memory) ตามทฤษฎีการเรียนรู้กลุ่ม Cognitivism ได้ สามารถใช้เป็นกิจกรรมให้ผู้เรียนสรุปเนื้อหา ในลักษณะของภาพ Slide Infographics หรือ VDO เพื่อให้ผู้เรียนได้สรุปข้อมูลเนื้อหาที่ได้เรียน
Link: https://www.canva.com/templates/infographics/
E-Book
เป็นเครื่องมือสำหรับจัดทำเอกสารคำสอนหรือหนังสือ ให้ผู้เรียนได้ใช้งาน Download ไว้อ่าน และสืบค้น
Link: https://issuu.com
Wix
เป็นโปรแกรมสำหรับทำ website ที่ใช้งานง่าย ไม่ว่าจะเป็นผู้สอนหรือผู้เรียนก็สามารถใช้สำหรับนำเสนอเนื้อหาบทเรียนได้
Link: www.wix.com
Socrative Teacher
เป็นแบบทดสอบหรือ Quiz Online คล้ายกับ KAHOOT โดยสามารถสร้างเป็นพื้นที่ให้ผู้เรียนได้สอบถามหรือตั้งคำถามแบบไม่ระบุตัวตนได้
Link: https://www.socrative.com/
Schoology
เป็นพื้นที่การเรียนรู้ Learning Management System (LMS) กึ่ง Gamification ที่ผู้สอนได้จัดเตรียมไว้ มีการประเมินที่ระบุเกณฑ์ความรู้และทักษะ ระบบคะแนน มอบเหรียญตรา รางวัลแก่ผู้เรียน และระบบช่วยตรวจจับความสนใจผู้เรียนได้
Link: http://www.southwestcoloradoeschool.org/
Class dojo
เป็นโปรแกรมที่ผู้สอนสามารถตรวจสอบความก้าวหน้าการเรียนรู้ของผู้เรียนแบบรายบุคคลได้ เช่น การส่งการบ้าน การทำกิจกรรม เป็นต้น ซึ่งผู้ปกครองก็สามารถเข้าร่วมได้เช่นกัน
Link: https://www.classdojo.com/
Coggle
เป็นโปรแกรมสร้าง Mind map บนระบบออนไลน์ ซึ่งจะช่วยให้ผู้เรียนสามารถจดจำข้อมูลได้เร็วขึ้น ผ่านการระดมความคิดเห็นรายกลุ่มแบบเรียลไทม์ มีฟังก์ชันสำหรับการปรับแต่งสี ใส่ไอคอน รูปภาพ และวิดีโอ
Link: https://coggle.it/gallery
แนวโน้มการพัฒนานวัตกรรมทางการศึกษา
ในปัจจุบันมหาวิทยาลัยต้องมีการเปลี่ยนแปลงบทบาทให้สอดคล้องกับความต้องการของโลก ที่ไม่ใช่เพียงเป้าหมายในการสร้างบัณฑิตที่มีความรู้ความสามารถ แต่ต้องเสริมด้วยการสร้างนวัตกรรม (Innovation) ขึ้นภายในมหาวิทยาลัย ซึ่งจะเห็นได้ว่าในทุกวันนี้มีหลาย ๆ มหาวิทยาลัยมีการตื่นตัวและมีการดำเนินงานเพิ่ม Impact ของนวัตกรรมทางการศึกษามากขึ้น เช่น การสร้าง Innovation Hub, Social Hub, Start-up และ entrepreneur ร่วมกับภาคเอกชน หรือการนำศิษย์เก่าที่ประสบความสำเร็จมาเป็น Partner เป็นต้น
ขณะเดียวกันการประเมินอาจารย์ เริ่มมีความเข้มข้นขึ้น มุ่งเน้นการทำวิจัยระดับนานาชาติ และการทำงานมืออาชีพ โดยจะมีการพัฒนางานวิจัยไปสู่สากล เช่น ได้รับการตีพิมพ์ใน Scopus, Q1, Q2, Tier 1 หรือมีการใช้ฐานข้อมูล TCI (Thai-Journal Citation Index Centre) และการมุ่งเน้น publication Innovation การจดสิทธิบัตร และการขอเงินทุน โดยมีแนวโน้มที่จะนำสิ่งเหล่านี้เข้ามาประกอบการประเมินผลงาน ขอตำแหน่งวิชาการ หรือการขอทุนวิจัย นอกเหนือจากงานวิจัยและเอกสารคำสอนที่มีในปัจจุบัน
สาระจากกิจกรรม Hybrid Learning และการสร้างนวัตกรรมทางการศึกษา
โดย ศ. ดร.เนาวนิตย์ สงคราม อาจารย์ประจำภาควิชาเทคโนโลยีและสื่อสารการศึกษา คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ในวันพฤหัสบดีที่ 9 กันยายน 2564 เวลา 13.00-15.00 น.
ผ่าน Application ZOOM