GROWTH MINDSET: Developing Intrinsic Motivation to learn
โดย คุณพัทธ์ดนัย ภูวจรูญกุล
ผู้ช่วยนักวิจัย ศูนย์วิจัยและนวัตกรรมประสาทวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี
(Neuroscience Center for Research & Innovation, Learning Institute, KMUTT)
เรียบเรียงโดย ทีม CELT
Growth Mindset คืออะไร?
Mindset คือ มุมมองทางด้านความคิดของตนเอง สามารถแบ่งได้ เป็น 2 ประเภท ได้แก่
- Fixed mindset หมายถึง ความเชื่อที่ว่าทักษะ ความสามารถ ความฉลาด และบุคลิกภาพ ไม่สามารถพัฒนาต่อไปอีกได้
- Growth mindset หมายถึง ความเชื่อที่ว่าทักษะ ความสามารถ ความฉลาด และบุคลิกภาพ สามารถฝึกฝนและพัฒนาต่อไปได้
จากงานวิจัยของ Carol Dweck แสดงให้เห็นว่า Growth Mindset สามารถพัฒนาได้ผ่าน 3 ปัจจัย ดังนี้
- Efforts (ความพยายาม)
- กลยุทธ์ (Strategies)
- การหาแหล่งข้อมูลภายนอก (Help form Others)
Efforts (ความพยายาม)
ผู้ที่มี Growth Mindset เชื่อว่าการใช้ความพยายามและการฝึกฝน จะทำให้เขาเก่งขึ้น มีความสามารถมากขึ้น ส่วนผู้ที่มี Fixed Mindset เชื่อว่าแม้ว่าจะใช้ความพยายามมากแค่ไหน ทักษะ ความสามารถก็ไม่ได้เปลี่ยนแปลงหรือพัฒนาได้มากนัก
กลยุทธ์ (Strategies)
ผู้ที่มี Growth Mindset จะแก้ไขปัญหาด้วยการทดลองกลยุทธ์ใหม่ ๆ ที่หลากหลาย เพื่อค้นหากลยุทธ์ที่ดีที่สุด ตรงข้ามกับผู้ที่มี Fixed Mindset จะแก้ไขปัญหาด้วยกลยุทธ์เดิม ๆ ถึงแม้ว่าจะไม่สามารถแก้ไขปัญหาให้สำเร็จได้ก็ตาม
การหาแหล่งข้อมูลภายนอก (Help form Others)
ผู้ที่มี Growth Mindset หากได้ลองใช้ความพยายามและเปลี่ยนกลยุทธ์แล้ว แต่ก็ยังไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้ เขาจะแสวงหาแหล่งข้อมูลภายนอกเพิ่มเติม ไม่ว่าจะเป็นข้อมูลจากบุคคล หนังสือ หรืออินเทอร์เน็ต
แต่สำหรับผู้ที่มี Fixed Mindset จะไม่พยายามหาแหล่งข้อมูลเพิ่มเติม เพื่อหาทางแก้ไขปัญหา
Carol Dweck และทีมวิจัย สนใจศึกษาเกี่ยวกับทัศนคติของวัยรุ่น เนื่องจากเป็นช่วงอายุที่มีการเปลี่ยนแปลงในการดำเนินชีวิต เช่น การเจริญเติบโตของร่างกาย ความคาดหวังของสังคมและคนรอบข้าง ความสามารถในการดูแลตนเอง เขาจึงได้ทำการสังเกตพฤติกรรมของนักเรียนมัธยมศึกษาตอนต้นจำนวน 300 คน โดยแบ่งนักเรียนออกเป็น 2 กลุ่ม คือ กลุ่มทดลอง (Growth) และกลุ่มควบคุม (Control) เพื่อให้ Intervention (การแทรกแซง) ที่แตกต่างกัน
กลุ่มทดลอง (Growth) ให้เรียนรู้ว่าความเก่งและฉลาด เกิดจากการสร้างการเรียนรู้และประสบการณ์ ส่วนกลุ่มควบคุม (control) ให้เรียนรู้ว่าความเก่งเกิดจากการท่องจำ
Reference : https://www.mindsetworks.com/science/
การทดลองในครั้งนี้ใช้เวลา 8 สัปดาห์ หรือประมาณ 1 – 2 ภาคการศึกษา โดยในแต่ละสัปดาห์ Carol Dweck ได้ให้ Intervention ดังต่อไปนี้
สัปดาห์ที่ 1 – 2 นักเรียนทั้ง 2 กลุ่ม เรียนรู้เกี่ยวกับโครงสร้างและหน้าที่ของสมอง
สัปดาห์ที่ 3 – 4 นักเรียนกลุ่มทดลอง (Growth) อ่านออกเสียงบทความ “You Can Grow Your Intelligence” และปฏิบัติกิจกรรมที่ทำให้เห็นว่า การเรียนรู้ทำให้สมองเราฉลาดขึ้นได้อย่างไร ส่วนนักเรียนกลุ่มควบคุม Control ให้อ่านออกเสียงบทความ “Memory” และปฏิบัติกิจกรรมเพื่อฝึกกลยุทธ์การจำ
สัปดาห์ที่ 5 – 6 นักเรียนทั้ง 2 กลุ่ม ได้เรียนรู้ บทเรียนการต่อต้านเชิงลบเกี่ยวกับเพศและเชื้อชาติ ผ่านกิจกรรมและสื่อการสอน
สัปดาห์ที่ 8 – 9 นักเรียนกลุ่มทดลอง (Growth) อภิปรายเกี่ยวกับการเรียนรู้ทำให้สมองเราฉลาดขึ้นได้อย่างไร ส่วนนักเรียนกลุ่มควบคุม Control อภิปรายเกี่ยวกับปัญหาทางวิชาการและการประสบความสำเร็จ, ความพึงพอใจ รวมถึงถามคำถามเกี่ยวกับหน่วยความจำของสมอง
จะสังเกตได้ว่าแต่เดิมนักเรียนทั้ง 2 กลุ่ม มี GPA วิชาคณิตศาสตร์ใกล้เคียงกัน แต่หลังจากการให้ Growth Mindset Intervention ด้วยการให้นักเรียนเรียนออนไลน์เรื่องสมองมีความยืดหยุ่น สามารถเพิ่มประสิทธิภาพสมองจากการเรียนรู้และประสบการณ์ที่เข้มข้นมากขึ้น นักเรียนกลุ่ม Growth ที่ได้รับ Growth Mindset Intervention มี GPA วิชาคณิตศาสตร์ดีขึ้น และกลุ่ม Control ที่ไม่ได้รับ Growth Mindset Intervention มี GPA วิชาคณิตศาสตร์ที่แย่ลงกว่าเดิม
ต่อมา Carol Dweck และทีมวิจัย ได้ทำการวิจัยกับนักเรียนประมาณ 6,000 คน ในสหรัฐอเมริกา ด้วยการให้ Growth Mindset Intervention จากการให้ดูบทความและวิดีโอเกี่ยวกับการทำงานของสมองและการเพิ่มศักยภาพของสมองด้วยการฝึกฝน ซึ่งใช้เวลาเรียนน้อยกว่า 1 ชั่วโมง และจากการวิจัยพบว่าการให้ Growth Mindset Intervention ส่งผลให้ GPA ของนักเรียนเพิ่มขึ้น
Yeager et al., 2019 : https://www.nature.com/articles/s41586-019-1466-y.pdf
ทำไม Growth Mindset จึงมีความสำคัญต่อการเรียนรู้?
โดยปกติแล้วการเรียนรู้จะมี 4 ปัจจัยหลัก ได้แก่
1. Attention (ความสนใจ) เป็นส่วนหนึ่งของทัศนคติ เมื่อเรามีความรู้สึกในทางที่ดีต่อสิ่งใดสิ่งหนึ่ง จะก่อให้เกิดทัศนคติที่ดีต่อการเรียนรู้ ซึ่งส่งเสริมให้เกิดพฤติกรรมในทางที่ดีขึ้นต่อวิชา หรือความรู้นั้นๆ
เช่น เด็กสนใจวิชาวิทยาศาสตร์ จะเข้าเรียนทุกชั่วโมงและใช้เวลาส่วนใหญ่ไปเพื่อวิชานี้มากกว่าอย่างอื่น ความสนใจของแต่ละบุคคลจะแตกต่างกันไปขึ้นอยู่กับความต้องการ ความถนัด รวมทั้งสภาพแวดล้อม
2. Active Engagement (การสร้างความผูกพันแบบมีส่วนร่วม) พฤติกรรมการมีส่วนร่วมในสิ่งที่ตนเองสนใจตามความต้องการ หรือความถนัด
3. Error Feedback (การเรียนรู้จากข้อผิดพลาด) ความผิดพลาด หรือข้อแนะนำ นำมาใช้เป็นแนวทางในการแก้ไขปัญหาและพัฒนาให้ดีขึ้น รวมถึงการเข้าใจปัญหาได้ดีขึ้น
4. Consolidation (การรวบรวม) กระบวนการจัดระเบียบของสมอง จากฝึกฝนบ่อย ๆ จนทำให้ทักษะกลายเป็นอัตโนมัติ (หรือ พฤติกรรม หรือ นิสัย) มากขึ้น เช่น การปั่นจักรยาน การทำงานฝีมือ แกะสลัก การเป็นนักกีฬา เป็นต้น
Growth Mindset ได้เข้ามามีบทบาทเป็นอย่างมากกับ 3 ส่วนปัจจัยแรก ได้แก่ Attention, Active Engagement และ Error Feedback
อีกหนึ่งงานวิจัยพบว่า ขณะที่อาสาสมัครผู้ที่มี Fixed Mindset และ Growth Mindset ได้รับข้อผิดพลาดจากการกระทำบางอย่าง (Error Feedback) การตอบสนองของสมองผู้ที่มี Fixed Mindset จะเป็นสีเขียว หมายถึง สมองไม่เปิดรับข้อมูลใด ๆ ส่วนผู้ที่มี Growth Mindset ภายในสมองจะเป็นสีส้ม หมายถึง สมองที่เต็มไปด้วยความคิดเพื่อหาข้อผิดพลาด (Error) และหนทางแก้ไขปัญหา
Reference (Mangels, Butterfield, Lamb, Good, & Dweck,2006) : https://www.ncbi.nlm.nih.gov/pmc/articles/PMC1838571/
จุดเริ่มต้นของ Growth Mindset
Haimovitz & Dweck ได้ทำการวิจัยและค้นพบว่า “Growth Mindset” เป็นสิ่งที่ถูกปลูกฝังมาจากการเลี้ยงดูของพ่อแม่ เนื่องจากในวัยเด็ก เราสามารถมองเห็นพฤติกรรมที่ชัดเจนของการแสดงออกของพ่อแม่เมื่อเราทำผิดพลาด
พ่อแม่ที่มี Fixed Mindset จะมีมุมมองว่าความล้มเหลวนั้นคือความผิดพลาด เพราะเชื่อว่าทักษะความสามารถของเด็กไม่สามารถพัฒนาได้ จึงมีการพูดคุยกับเด็กในเชิงคุณลักษณะ (Performance) เช่น ทำไมลูกถึงไม่เก่ง ทำไมลูกถึงอ่อนแอ เป็นต้น
ส่วนพ่อแม่ที่มี Growth Mindset จะมีมุมมองต่อความล้มเหลวเป็นเรื่องปกติ มองว่าความล้มเหลวคือประสบการณ์ และให้ความสำคัญกับกระบวนการเรียนรู้มากกว่าผลลัพธ์ของการเรียนรู้ จึงนำไปสู่หนทางในการแก้ไขข้อผิดพลาดที่เกิดขึ้น
Haimovitz & Dweck, 2016 : https://www.researchgate.net/publication/301646732_What_Predicts_Childrens_Fixed_and_Growth_Intelligence_Mind-Sets_Not_Their_Parents_Views_of_Intelligence_but_Their_Parents_Views_of_Failure
วีธีสร้าง Growth Mindset
จากงานวิจัยของ Gunderson พบว่าประเภทของ “คำเชยชม” ที่พ่อแม่ใช้กับเด็กอายุ 1 – 3 ขวบ มีผลต่อการเติบโตทางความคิดของเด็กในอีก 5 ปีข้างหน้า
รูปแบบคำชมเชยที่ยกย่องถึงความสามารถในตัวเด็ก เช่น เก่งจังเลย ฉลาดมากเลย ฯลฯ อาจทำให้เด็กเข้าใจว่าตนเองเก่งแล้ว ฉลาดแล้ว ซึ่งคำชมเชยลักษณะนี้เป็นการตีกรอบความคิดในการพัฒนาของเด็กได้ในอนาคต (Fixed Mindset)
ส่วนรูปแบบคำชมเชยที่ส่งผลให้เกิดกระบวนการคิดแบบเติบโต (Growth Mindset) คือรูปแบบคำชมดังต่อไปนี้
- คำชมเชยที่กล่าวถึงความพยายาม (Effort) เช่น การที่ลูกสอบได้ที่ 1 แสดงว่าลูกมีความพยายามอย่างมาก
- คำชมเชยที่กล่าวถึงกลยุทธ์หรือวิธีการ (Strategies) เช่น การที่เทอมนี้ลูกทำคะแนนได้ดีกว่าเทอมที่แล้ว แสดงว่าลูกปรับเปลี่ยนวิธีหรือวางแผนในการอ่านหนังสือได้ดี
- คำชมเชยที่กล่าวถึงการหาแหล่งข้อมูลภายนอก (Help form others) เช่น เทอมนี้ลูกได้คะแนนวิชานี้เยอะกว่าเทอมที่แล้ว แสดงว่าลูกได้ศึกษาข้อมูลเพิ่มเติม จากแนวข้อสอบ ห้องสมุด หรืออินเทอร์เน็ต
Gunderson et al., 2013 : https://www.researchgate.net/publication/235519011_Parent_Praise_to_1-_to_3-Year-Olds_Predicts_Children’s_Motivational_Frameworks_5_Years_Later
Rattan, Good & Dweck ได้ศึกษาวิจัยและพบว่า รูปแบบของคำชมเชย มีผลต่อความพยายามแก้ไขปัญหาของเด็ก
Trial 1 ในขั้นเริ่มต้นของงานวิจัย เขาได้แบ่งเด็กออกเป็น 2 กลุ่ม และได้มอบโจทย์ปัญหาให้กับเด็ก ซึ่งเด็กทั้ง 2 กลุ่ม สามารถแก้โจทย์ปัญหาได้จำนวนใกล้เคียงกัน หลังจากนั้นเขาได้ให้คำชมเชยเด็กทั้ง 2 กลุ่มในรูปแบบแตกต่างกัน ดังนี้
1) เด็กกลุ่มที่ ได้รับ Praising for Intelligence ชื่นชมสติปัญญา เช่น เก่งมาก เมื่อพบอุปสรรคหรือความล้มเหลว จะล้มเลิกและลดละการแก้ไขปัญหา
2) เด็กกลุ่ม Praising for Effort ชื่นชมที่กระบวนการเรียนรู้ เช่น มีความพยายามดีมาก เมื่อเผชิญอุปสรรคหรือความล้มเหลว จะพยายามหาทางแก้ไข และต่อสู้กับอุปสรรค
Failure หลังจากนั้น เขาได้มอบโจทย์ที่ยากและท้าทายมากยิ่งขึ้น เพื่อให้เด็กทั้ง 2 กลุ่ม ได้เผชิญกับความล้มเหลว
Trail 3 ผลการทดลองพบว่า เมื่อเด็กได้เผชิญกับความล้มเหลว เด็กกลุ่ม Intelligence Praise ได้ลดละความพยายามแก้ไขปัญหา ทำให้แก้ไขปัญหาได้น้อยลง ส่วนเด็กกลุ่ม Effort Praise มีความมุ่งมั่นและพยายามในการแก้ไขปัญหา จนสามารถแก้ไขปัญหาได้จำนวนมาก แม้ว่าโจทย์ปัญหานั้นจะยาก และเขาได้พบกับความล้มเหลวมาแล้วก็ตาม
Rattan, Good & Dweck, 2012 : https://www.mindsetworks.com/science/teacher-practices
Rattan, Good, & Dweck พบว่า การที่พ่อแม่หรือครู ใช้คำชมเชยแบบ “โอ๋” (Comfort Praise) จะส่งผลต่อกระบวนการคิดของเด็ก
พ่อแม่ที่มี Fixed Mindset จะมีแนวโน้มในการใช้คำชมแบบโอ๋กับเด็ก เมื่อเด็กเจอความท้าทาย หรือยากลำบาก เช่น เด็กการทำการบ้านหรือข้อสอบไม่ได้ แล้วพ่อแม่พูดคุยกับเด็กว่า ไม่เป็นไร ทำดีที่สุดแค่นี้แหละ, ที่ทำไม่ได้เพราะไม่ได้เกิดมาเพื่อสิ่งนี้หรือเหมาะกับสิ่งนี้ เป็นต้น ซึ่งการชมลักษณะนี้ทำให้เด็กเกิดความเชื่อว่า ทักษะ ความฉลาด ความสามารถ ไม่สามารถพัฒนาได้อีกต่อไป
ในขณะที่ พ่อแม่ที่มี Growth Mindset จะใช้คำชมหรือให้คำแนะนำโดยเน้นที่กลยุทธ์ (Strategies) เช่น ไม่เป็นไร คราวหน้าอาจจะต้องขยันมากขึ้น หรือเตรียมตัวแต่เนิ่น ๆ เป็นต้น ซึ่งจะเป็นการสร้างความคิดให้เด็กหาแนวทางในการพัฒนาต่อไป
ซึ่งรูปแบบคำแนะนำ (Feedback) ที่แตกต่างกัน จะมีผลต่อเด็กในการสร้างแรงจูงใจ (Motivation) ต่อการพัฒนาตนเองในอนาคต ดังแสดงในกราฟแท่งของ Student’s Motivation to Improve จะเห็นว่า เด็กที่ได้รับ Strategy Feedback จะมีแรงจูงใจในการพัฒนาตนเองมากกว่าเด็กที่ได้รับ Comfort Feedback
ครูที่มี Fixed Mindset จะให้คำแนะนำแบบโอ๋ ส่วนครูที่มี Growth Mindset จะให้คำแนะนำในเชิงกลยุทธ์ นักเรียนที่ได้คำแนะนำแบบโอ๋ จะมีแรงกระตุ้นในการเรียนที่ต่ำกว่านักเรียนที่ได้รับคำแนะนำในเชิงกลยุทธ์
นอกจากนี้ ผู้ปกครองสามารถปลูกฝังให้เด็กมี Growth Mindset โดยให้เด็กอ่านบทความเกี่ยวกับความรู้พื้นฐานเกี่ยวกับสมองหรือวิทยาศาสตร์ทางสมอง ซึ่งจะส่งผลให้เด็กเกิดความอยากเรียนรู้ สนุกที่จะเจอความท้าทาย และเปิดรับข้อเสนอแนะจากข้อผิดพลาด
Growth Mindset มีอิทธิพลอย่างไรในระบบการศึกษา
ในช่วงปี ค.ศ.1760-1840 ยุโรป อังกฤษ และอเมริกา ได้เกิดการปฏิวัติอุตสาหกรรมขึ้น โดยเปลี่ยนรูปแบบการผลิตจากการผลิตด้วยมือ (Handmade) เป็นการผลิตในโรงงาน (Factory) มากขึ้น และมีการควบคุมคุณภาพในการผลิต (Quality Control (QC), Quality Assurance(QA)) อันเป็นไปตามรูปแบบที่เรียกว่า “Factory Model”
จากนั้น Factory Model ได้ส่งผลกระทบกับภาคการศึกษาด้วยเช่นกัน ส่งผลให้มีการจัดระบบการศึกษา เริ่มมีโรงเรียนที่มีการสอนฉพาะทาง เฉพาะกลุ่ม และมีเกณฑ์วัดผล เพื่อควบคุมคุณภาพ ตัวอย่างเช่น ประเทศไทย เด็กผู้ชายจะเรียนที่วัด (Temple) ส่วนเด็กผู้หญิงจะเรียนเย็บปักถักร้อยและทำอาหารที่บ้าน จาก Factory Model ดังกล่าว ทำให้เกิดการมีโรงเรียนอย่างเป็นทางการ (Formal School) และมีเกณฑ์การวัดผลคะแนน (Grading) เพื่อบ่งบอกว่า เด็กที่จบการศึกษานั้นจะต้องมีคุณภาพเช่นไร เป็นเด็กที่เก่งหรือไม่เก่งในด้านใด ระดับใด เป็นต้น
มาตรฐานการศึกษาและระบบคัดเลือก แบบ Fixed Mindset
ทฤษฎีการเรียนรู้ “Behaviorism” นั้นส่งผลต่อการคัดเลือกเด็กเพื่อเข้ารับการศึกษา เนื่องจากในสมัยนั้น ทรัพยากรการเรียนมีอยู่จำกัดจึงต้องเกิดการคัดเลือก เพื่อให้เกิดผลประโยชน์สูงสุด
โดยมีแนวคิดที่ใช้ในการคัดเลือกผู้เรียน ดังนี้
1. จากทฤษฎีการเรียนรู้ จึงสันนิษฐานได้ว่า ศักยภาพของเด็กเป็นสิ่งที่ตายตัว (fixed) และจะเป็นแบบนั้นไปทั้งชีวิต
2. กลุ่มเด็กที่เก่งจะได้รับโอกาสเข้าเรียนในสถานศึกษามากกว่าเด็กที่ไม่เก่ง
3.ให้ความสำคัญกับคะแนนการทดสอบ IQ และความถนัด
แต่ความจริงแล้วค่าความฉลาด (IQ) สามารถพัฒนาและเปลี่ยนแปลงได้ ซึ่งขึ้นอยู่กับตัวแปรของสภาพสิ่งแวดล้อม ไม่ว่าจะเป็น ครอบครัว เศรษฐานะของครอบครัว มลภาวะ สารอาหารที่ได้รับในวัยเด็ก การถูกทำร้าย การนอนหลับพักผ่อนไม่เพียงพอ หรือความเครียด
เมื่อ 100-200 ปีก่อน นักวิทยาศาสตร์ไม่ทราบถึงหลักการทำงานของสมองมากนัก การศึกษาจึงใช้วิธีการสังเกตพฤติกรรมและความสัมพันธ์ระหว่างสมองกับการเรียนรู้
โดยมีนักจิตวิทยาที่มีความคิดเห็นแตกต่างกันออกเป็น 2 กลุ่ม
กลุ่มที่ 1 นักจิตวิทยาจำนวนหนึ่ง มีความเชื่อว่า ความฉลาดของมนุษย์ (IQ) สามารถพัฒนาได้
โดย Alfred Binet นักจิตวิทยาชาวฝรั่งเศส ได้คิดค้น IQ TEST เพื่อทดสอบเชาว์ปัญญาของเด็กแต่ละคน โดยเป้าหมายของเขาคือการสร้างการเรียนรู้ที่เหมาะสมแก่กลุ่มเด็กที่มี IQ ต่างกันนี้
เช่นเดียวกับ John Dewey ที่เชื่อว่าความฉลาดสามารถพัฒนาได้และถูกสร้างได้อยู่ตลอดเวลา จากการเปิดใจที่จะเรียนรู้และปรับตัว
กลุ่มที่ 2 นักจิตวิทยาที่มีความเชื่อว่า ความฉลาด (IQ) เป็นสิ่งที่พัฒนาไม่ได้ มนุษย์เกิดมามี IQ เท่าใดก็จะมีแบบนั้นไปตลอดชีวิต
Lewis Terman มีความเชื่อว่าคนที่ไม่ฉลาดก็จะไม่ฉลาดตลอดชีวิต ส่วนคนที่ฉลาด เขาก็จะฉลาดตลอดชีวิตเช่นเดียวกัน
Edward Thorndike กล่าวว่า คนที่ฉลาดและเก่งมีหน้าที่ในการมีลูกและเลี้ยงลูกเป็นอย่างดี ส่วนคนที่ไม่ฉลาดและไม่เก่ง เขาควรป้องกันการมีลูก เพื่อไม่ให้ยีนส์ถ่ายทอดออกไป เพื่อเป็นการคัดเลือกเด็กที่จะเติบโตขึ้นมาในอนาคต
จากความคิดเห็นที่แตกต่างนี้ เกิดการพัฒนาแนวคิดต่อยอดกลุ่มที่ 1 ที่ว่าด้วยความฉลาดของมนุษย์สามารถพัฒนาได้ ด้วยการสนับสนุนจากทฤษฎีการเรียนรู้แบบ Behaviorism
ทฤษฎีการเรียนรู้กลุ่มพฤติกรรมนิยม “Behaviorism”
John Watson และ Burrhus Skinner ได้กล่าวไว้ว่ากระบวนการเรียนรู้ของมนุษย์เกิดจากการเชื่อมโยงระหว่างสิ่งเร้าและการตอบสนอง จนแสดงออกเป็นพฤติกรรม โดยเขาได้ทดลองนำหนูเข้าไปไว้ในเขาวงกต และให้สิ่งเร้าหรือรางวัลที่ต่างกันในแต่ละเส้นทาง เมื่อหนูวิ่งไปทางเส้นทางที่มีไฟฟ้าช็อต ก็จะทำให้หนูเกิดการเรียนรู้และจดจำว่าไม่ควรวิ่งไปเส้นทางนั้นอีก
จากการทดลองดังกล่าวทำให้ John Watson และ Burrhus Skinner เชื่อว่ามนุษย์อาจจะมีกระบวนการเรียนรู้ที่ขึ้นอยู่กับสิ่งเร้าและการตอบสนองเช่นเดียวกัน โดยการทดลองนี้ยังไม่สามารถพิจารณาถึงปัจจัยอื่น ๆ ที่อาจจะมีส่วนเกี่ยงข้อง ไม่ว่าจะเป็น แรงจูงใจ ความสนใจ หรือความเชื่อ เนื่องจากในยุคนั้น การศึกษาในมนุษย์ยังไม่แพร่หลาย สืบเนื่องด้วยเรื่องจริยธรรมและศีลธรรม การศึกษาส่วน ใหญ่จึงเป็นการทดลองในสัตว์ ซึ่งแท้จริงแล้วปัจจัยเหล่านี้ก็สามารถส่งผลต่อกระบวนการเรียนรู้ของมนุษย์เช่นเดียวกัน
โดยงานวิจัยของ Winship & Korenman พบว่า ค่าความฉลาด (IQ) ของเด็กโดยเฉลี่ยจะเพิ่มขึ้นประมาณ 2.7 – 4.5 คะแนน ในทุก ๆ 1 ปี ซึ่งทำให้เห็นว่า IQ ของเด็กสามารถเปลี่ยนแปลงได้ตลอดเวลา ดังนั้นจึงไม่สามารถใช้คะแนนจาก IQ TEST มาเป็นตัวชี้วัดในการคัดเลือกเด็กเข้าเรียน
Pietschnig and Voracek ได้มีการเก็บผลค่าความฉลาด (IQ) ของประชากรจากทุกทวีปทั่วโลก และพบว่าในระยะเวลา 100 ปี ค่าความฉลาด (IQ) ของประชากรทุกทวีปมีสถิติที่เพิ่มขึ้น ซึ่งอาจจะเป็นผลมาจากปัจจัยต่าง ๆ เช่น มนุษย์มีสุขภาพที่ดีขึ้น ได้รับการศึกษามากขึ้น โลกมีความซับซ้อนมากขึ้นจึงทำให้ต้องมีการใช้ความคิดมากขึ้น
จะเห็นได้ว่า ค่าความฉลาด (IQ) เป็นสิ่งที่สามารถเปลี่ยนแปลงและพัฒนาได้ เราจึงไม่สามารถใช้ค่าความฉลาด (IQ) เพียงอย่างเดียว เพื่อวัดความสามารถของผู้เรียน (Mental abilities)
Pietschnig and Voracek, 2015 : https://ourworldindata.org/intelligence
สาระจากกิจกรรม Brain science seminar ครั้งที่ 5 หัวข้อ ” Growth Mindset: Developing Intrinsic Motivation to Learn”
โดย
พัทธ์ดนัย ภูวจรูญกุล ผู้ช่วยนักวิจัย ศูนย์วิจัยและนวัตกรรมประสาทวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี
ในวันพฤหัสบดีที่ 25 กุมภาพันธ์ 2564 เวลา 13.30-14.30 น.
จัดโดย Neuroscience Center for Research and Innovation (NX) ร่วมกับ ศูนย์ CELT
ดูวิดีโอย้อนหลังได้ที่ https://bit.ly/3gla05k