ประสบการณ์การนำ Gamification มาใช้ในชั้นเรียน
(Currency System, An Application of Gamification in Classroom)
ผู้เขียน : คชานนท์ นิรันดร์พงศ์
ในช่วงก่อนที่จะเข้าสถานการณ์ COVID-19 นั้น ผมได้มีโอกาสพูดคุยกับอาจารย์แก๊ส (ผศ.ราชวิชช์ สโรชวิกสิต) ซึ่งเป็นผู้สอนวิชา Computer Architecture ของภาควิชาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ (CPE) อาจารย์แก๊สบอกว่าอยากให้ชั้นเรียนของเขา Active มากขึ้น แต่ด้วยเนื้อหาของวิชาที่มากและเวลาที่จำกัด ถ้าจะให้ปรับการเรียนการสอนเป็น Active Learning แบบเต็มตัวก็เกรงว่าจะทำไม่ได้ เพราะฉะนั้น Intervention ที่เราจะใส่เพิ่มเข้าไปในชั้นเรียนจะต้องรบกวนการเรียนการสอนเดิมให้น้อยที่สุดที่เป็นไปได้ เราคิดกันว่าจะใส่ระบบรางวัลบางอย่างเข้าไปเพื่อกระตุ้นให้นักเรียนอยากมีส่วนร่วมในชั้นเรียนมากขึ้น และด้วยความที่ผมพอทราบมาว่านักศึกษาของ CPE นั้นชอบการเล่นเกมเป็นพื้นฐาน ผมเลยลองเสนอให้ลองเอาแนวคิดของ Gamification ใส่เข้าไปในชั้นเรียน
สิ่งที่ผมกับอาจารย์แก๊สทำนั้นไม่ใช่ Game-based Learning ที่ใช้เกมเป็นสื่อเพื่อให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้ แต่เป็นการนำเอา Game Element ใส่เข้าไปในชั้นเรียนเพื่อทำให้ทั้งชั้นเรียนกลายเป็นเกม และสิ่งที่เราใส่เข้าไปในชั้นเรียนก็คือระบบเงินตรา
ภายใต้แนวคิดพื้นฐานที่ว่า
“แต่ละคนนั้นมีความต้องการแตกต่างกันไป รางวัลเดียวนั้นไม่สามารถตอบสนองความต้องการของทุกคนได้ แต่ถ้ารางวัลเป็นเงิน แต่ละคนก็สามารถเอาเงินไปซื้อของที่ตัวเองต้องการได้”
เงินที่ว่านี้ไม่ใช่เงินบาท แต่เป็นสกุลเงินที่สร้างขึ้นมาเพื่อใช้ซื้อสิ่งต่าง ๆ ในชั้นเรียน ผมใช้ชื่อสกุลเงินว่า Gil (อ่านออกเสียงว่า “กิล”) เพื่อเป็นการต้อนรับการมาถึงของเกม Final Fantasy VII Remake ในปี 2020 และเงินกิลนี้นักศึกษาสามารถหามาได้ด้วยการมีส่วนร่วมในชั้นเรียนเป็นหลัก โดยที่นักศึกษาจะได้รับเงินกิลในรูปแบบของ “เหรียญหนึ่งกิล” (One-Gil Coin) ซึ่งบรรจุอยู่ใน “ไหแห่งกิล” (Jar of Gil)
นักศึกษาสามารถใช้เงินกิลที่ตัวเองมีในการซื้อ Item ต่าง ๆ ได้ ซึ่ง Item ที่สามารถซื้อได้นั้นอาจเป็นสิ่งที่เกี่ยวข้องกับชั้นเรียน เช่นใบขยายเวลาส่งการบ้าน หรืออาจเป็น Premium Item ที่ไม่เกี่ยวข้องกับชั้นเรียนแต่อย่างใด เช่น บัตรชมภาพยนตร์ เป็นต้น
ในชั้นเรียนวิชานี้ นอกจากจะมีอาจารย์ผู้สอน, ผู้ช่วยสอน (TA), และนักศึกษาแล้ว ยังมีตัวผมอีกคน ซึ่งบทบาทในชั้นเรียนของตัวนั้นคือ Game Master (GM) ที่คอยจัดการและตัดสินใจสิ่งต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับระบบเงินกิล
สิ่งสำคัญในกระบวนการออกแบบ
การออกแบวิธีการที่นักศึกษาจะได้มาซึ่งเหรียญกิลนั้นไม่ง่ายเสียทีเดียว เพราะต้องคำถึงการเคารพในความหลากหลายของบุคลิกภาพและธรรมชาติการเรียนรู้ของนักศึกษา กล่าวคือ นักเรียนที่มีบุคลิกแบบ Extrovert จะต้องไม่ได้รับเหรียญกิลมากกว่านักเรียนที่มีบุคลิกแบบ Introvert มากจนเกินไป นักเรียนที่ชอบเรียนรู้ด้วยการตั้งคำถามจะต้องไม่ได้เหรียญกิลมากกว่านักเรียนที่ชอบเรียนรู้แบบทำความเข้าใจด้วยตนเองมากจนเกินไป วิธีการได้มาซึ่งเหรียญกิลนั้นจึงต้องมีความหลากหลายเพื่อตอบรับความหลากหลายของนักศึกษา นอกจากนี้ระบบเงินตราจะต้องไม่ดึงดูดความสนใจของนักศึกษามากเกินไปจนเสียสมาธิจากการเรียนเนื้อหา ซึ่งเป็นผลลัพธ์การเรียนรู้ที่แท้จริงของวิชา
การได้มาซึ่งเหรียญกิล
วิธีการที่นักศึกษาจะได้รับเหรียญกิลนั้นแสดงไว้ในตารางด้านล่างนี้
วิธีการได้ Gil | Gil ที่ได้ | ||
Initial Gil | เปิดชั้นเรียนมาทุกคนจะได้ Gil ขวัญถุง | 1 | Gil |
Pop Quiz | ในชั้นเรียน อาจารย์จะมีคำถามออกมาเรื่อย ๆ ใครตอบคำถามก็จะได้ Gil ไป | 1-2 | Gils |
Good Question | นักศึกษาถามคำถามที่ดีในชั้นเรียน | 1-2 | Gils |
Top Lab Score 1 | คะแนนรวมของกิจกรรม Lab ของนักศึกษาช่วงก่อน Mid-term สูงติดอันดับ | 1-4 | Gils |
Top Lab Score 2 | คะแนนรวมของกิจกรรม Lab ของนักศึกษาช่วงหลัง Mid-term สูงติดอันดับ | 1-4 | Gils |
Fast Submission | นักศึกษา 10 กลุ่มแรกที่ส่งงาน Lab ก่อนในแต่ละสัปดาห์ | 2 | Gils |
Casino | หลังคาบเรียนบางคาบ Casino จะเปิดให้นักศึกษานำ Gil มาเสี่ยงดวงว่าจะเสียไปเลยหรือได้กลับมามากกว่าเดิม | -1-2 | Gils |
Mid-term Gachapon | หลังจากคะแนนสอบ Mid-term ออก จะมีการแจก Gil จำนวนหนึ่ง นักศึกษาจะเข้าคิวกันมาสุ่มฟรีว่าจะได้เงินไปกี่ Gil ลำดับการเข้าคิวเรียงตามอันดับคะแนนสอบ Mid-term | 0-3 | Gils |
ทั้งนี้ ไม่มีกฎห้ามการถ่ายทอดเหรียญกิลระหว่างบุคคล หรือห้ามการแลกเปลี่ยนเหรียญกิลเป็นเงินบาท เราเชื่อว่าสิ่งเหล่านี้จะไม่เกิดขึ้น แต่ลึก ๆ เราก็อยากจะรู้ว่าถ้ามันเกิดขึ้น อะไรมันจะเกิดขึ้น
การใช้จ่ายเหรียญกิล
การออกแบบ Item ที่นักศึกษาสามารถใช้เงินกิลซื้อได้ก็ไม่ง่ายเช่นกัน ระบบเงินตรานั้นออกแบบมาเพื่อกระตุ้นความมีส่วนร่วมในชั้นเรียน แต่ความมีส่วนร่วมในชั้นเรียนนั้นไม่ใช่ผลลัพธ์การเรียนรู้ของวิชา ดังนั้น Item ที่เหรียญกิลซื้อได้นั้น จะต้องไม่มีผลโดยตรงต่อคะแนนของนักศึกษา ซึ่งอาจส่งผลให้เกิดการประเมินผลการเรียนรู้ที่ผิดพลาดได้
ข้อคำนึงในการออกแบบ item ที่เหรียญกิลซื้อได้
Item ต้องมีความหลากหลายเพื่อตอบสนองความต้องการของนักศึกษาที่หลากหลาย นอกจากนี้ การกำหนดราคาของแต่ละ item ยังต้องคำนึงถึงปรากฏการณ์เงินเฟ้อหรือเงินฝืดอีกด้วย
รายการของ Item ต่าง ๆ และราคาของ Item แต่ละชิ้นแสดงไว้ในตารางด้านล่างนี้
Item ที่สามารถซื้อได้ | ราคา | ||
Grade Insurance | ในตอนจบของวิชา ถ้านักศึกษาขาดอีก 1 คะแนนจะได้เลื่อนเกรดขึ้น 1 ขั้น แล้วได้ซื้อ Insurance ไว้ ก็จะได้เลื่อนเกรดอัตโนมัติ | 5 | Gils |
Deadline Extension (Assignment) | ใช้ในการขอเลื่อน Deadline ของการส่ง Assignment ได้ 1 วัน | 1 | Gil |
Deadline Extension (Lab) |
ใช้ในการขอเลื่อน Deadline ของการส่งงาน Lab ได้ 1 วัน | 1 | Gil |
Extra Assignment | ซื้อ Assignment เพิ่ม | 5 | Gils |
Quiz 1 Hint for All | ระหว่างเทอมจะมี Quiz 2 ครั้ง ซึ่งยากพอสมควร หากนักศึกษาอยากได้ Hint ของ แต่ละ Quiz ก็ต้องรวมเงินกันมาจ่าย ถ้ารวมได้สำเร็จ ทุกคนก็จะได้ Hint ไป | 40 | Gils |
Quiz 2 Hint for All | ระหว่างเทอมจะมี Quiz 2 ครั้ง ซึ่งยากพอสมควร หากนักศึกษาอยากได้ Hint ของ แต่ละ Quiz ก็ต้องรวมเงินกันมาจ่าย ถ้ารวมได้สำเร็จ ทุกคนก็จะได้ Hint ไป | 40 | Gils |
Lab Summoning Jutsu | ในกรณีที่ทำ Lab แล้วติดขัด นักศึกษาสามารถใช้ Gil เพื่อ Summon อาจารย์มาช่วยให้คำปรึกษาได้ | 2 | Gils |
Pre-submission Feedback | ปกติแล้ว นักศึกษาจะได้ Feedback ของงาน Lab หลังจากตรวจให้คะแนนแล้ว แต่นักศึกษาสามารถใช้ Gil ในการขอรับ Feedback เพื่อนำไปปรับปรุงงานก่อนตรวจให้คะแนนได้ | 2 | Gils |
Auction for presentation time slot | นักศึกษาสามารถใช้ Gil ในการประมูลลำดับการนำเสนองานหน้าชั้นเรียนได้ | ? | Gils |
Premium Items | เป็น Item ที่ไม่เกี่ยวกับชั้นเรียน เช่น บัตรชมภาพยนต์, ปากกา, ตุ๊กตา, บัตรจับมือ BNK48, เป็นต้น | TBA |
Reflection
ระบบเงินตราที่ผมและอาจารย์แก๊สใส่เข้าไปในชั้นเรียนนั้น ใช้ไปได้เพียงไม่ถึงครึ่งเทอมก็ต้องหยุดลงเนื่องจากสถานการณ์ COVID-19 เราจึงไม่มีโอกาสได้ประเมินประสิทธิภาพของมันอย่างเต็มขั้น แต่จากการสังเกตในชั้นเรียนเท่าที่ทำได้และการพูดคุยกับอาจารย์แก๊สอย่างสม่ำเสมอ เราได้ข้อสังเกตดังต่อไปนี้
- อาจารย์แก๊สกล่าวว่า ที่ผ่านมาชั้นเรียนของเขาไม่เคย active ขนาดนี้มาก่อน ที่ผ่านมานั้นแทบจะเป็นไปไม่ได้เลยที่จะมีนักเรียนมากกว่าหนึ่งคนยกมือขึ้นเพื่อตอบคำถาม แต่ในชั้นเรียนนี้ เป็นเรื่องปกติที่จะเห็นนักเรียนสามคนยกมือขึ้นพร้อมกันเพื่อตอบคำถาม ซึ่งอาจารย์แก๊สได้ใช้โอกาสนี้ในการแสดงให้นักเรียนเห็นว่า คำตอบที่ถูกต้องอาจมีมากกว่าหนึ่ง คำตอบหนึ่ง ๆ อาจจะถูกต้องแล้ว แต่ก็อาจจะมีคำตอบอื่นที่ถูกต้อง และมีประสิทธิภาพกว่า นอกจากนี้อาจารย์แก๊สยังชี้ให้เห็นจุดผิดพลาดในคำตอบของนักเรียนและแก้ไขความเข้าใจในเนื้อหาการบรรยายไปด้วย ซึ่งสิ่งนี้เป็นประโยชน์ต่อนักศึกษาทั้งชั้นเรียน
- มีนักศึกษาประมาณ 30% ที่ไม่มีส่วนร่วมกับระบบเงินตรานี้เลย เราต้องสำรวจกันต่อไปว่าสาเหตุคืออะไร
- Casino ท้ายคาบนั้น เป็นกิจกรรมที่สนุกสนานมากในระดับห้องเรียนแตก
- Item ที่นักศึกษาให้ความสนใจคือ Grade Insurance นักศึกษาที่มีเงินถึง 5 Gils ก็จะซื้อ insurance เก็บไว้
สิ่งที่ต้องพัฒนาต่อ
เนื่องจากระบบเงินตราในชั้นเรียนนี้ถูกยกเลิกกลางคันเนื่องจากสถานการณ์ COVID-19 ทำให้มันยังพัฒนาไปไม่ถึงขีดสุด เรายังอยากจะพัฒนามันต่อไป และอาจขยายผลไปยังวิชาอื่นได้ สิ่งที่เราอาจทำได้คือ
- ออกแบบวิธีการได้เหรียญกิลเพิ่ม โดยใช้ความเห็นจากนักเรียน
- ออกแบบ item ที่ใช้เงินกิลซื้อได้เพิ่ม โดยใช้ความเห็นจากนักเรียน
- Optimise อัตราการได้เงิน และราคาของ item ต่าง ๆ
- ทำ application เพื่อเปลี่ยนจากการได้และการใช้จ่ายเงินกิลผ่านเหรียญจริง เป็นข้อมูลเชิงอิเล็กทรอนิกส์
ความเพ้อฝัน
แน่นอนว่างานนี้เริ่มต้นด้วยความฝันที่จะทำให้ชั้นเรียนสนุกขึ้น active มากขึ้น และงานนี้ก็ทำโดยคนช่างฝันสองคน จึงไม่แปลกที่เราจะฝันไปไกลจนถึงขั้นเพ้อฝัน แน่นอนว่าความเพ้อฝันนี้คงไม่มีโอกาสเกิดขึ้นจริง แต่มันก็เป็นสิทธิ์ของเราที่จะฝัน และความเพ้อฝันของเราก็คือ
- วิชาต่าง ๆ ในภาควิชาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ต่างก็ใช้ระบบการเงินนี้กันจนเกิดเป็นสกุลเงินมาตรฐานที่สามารถแลกเปลี่ยนข้ามวิชาได้
- ภาควิชาอื่น ๆ นำแนวคิดของเราไปใช้อย่างแพร่หลาย เกิดเป็นสกุลเงินต่าง ๆ และเกิดอัตราการแลกเปลี่ยนระหว่างสกุลเงินขึ้น
- สิ่งที่เราทำนั้นเป็นแรงกระตุ้นที่ทำให้อาจารย์ท่านอื่นมีแรงบันดาลใจที่จะใส่ intervention ต่าง ๆ เข้าไปในชั้นเรียนเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการเรียนรู้ และทำให้ชั้นเรียนสนุกขึ้น
อ่านบทความต้นฉบับได้ที่ https://bit.ly/3rsoiFb
MyBKExperience Survey is an online customer feedback program designed to get honest feedback, reviews and suggestions from your recent experience. www MyBKExperience Survey
kieta hatsukoi