Counselling: การให้คำปรึกษาและการรับฟัง
โดย คุณวรรณา บุญช่วยเรืองชัย ผู้ให้บริการให้คำปรึกษา
Counselling คือ ทฤษฎีหรือแนวคิดการให้ความช่วยเหลือด้านจิตใจอย่างเป็นกระบวนการที่อาศัยสัมพันธภาพที่ดีต่อกัน ระหว่างผู้ให้การปรึกษาและผู้รับการปรึกษา ด้วยการสื่อสารสองทางจนเกิดความร่วมมือโดยผู้ให้คำปรึกษาเป็นผู้ช่วยเหลือด้วยการใช้คุณสมบัติของผู้ให้การปรึกษา และทักษะต่างๆ เพื่อเอื้ออำนวยให้ผู้รับบริการได้ใช้ศักยภาพของตนเองในการสำรวจตัวเองเพื่อทำความเข้าใจ สามารถค้นหาปัญหาที่แท้จริง สาเหตุของปํญหา และความต้องการ ตลอดจนสามารถหาวิธีการแก้ไขปัญหา และปรับเปลี่ยนพฤติกรรม จนปรับตัวให้ดีขึ้นได้ด้วยตนเอง
แนวคิดนี้ ทำให้ทักษะการฟังเป็นสิ่งสำคัญสำหรับกระบวนการให้คำปรึกษา การเรียนรู้และฝึกทักษะด้วยกิจกรรมในการฟังอย่างเข้าใจ ดังนั้นผู้ให้คําปรึกษา (Counsellor) จึงต้องเรียนรู้ทฤษฎีการเข้าใจความรู้สึกตนเองและผู้รับคำปรึกษาจากการรับฟัง เพื่อให้เกิดความเชื่อมโยง และสอดคล้องในการให้บริการแก่ผู้รับการปรึกษา (Client) และเกิดประสิทธิผลในการให้คำปรึกษา
การเข้าใจตนเองและผู้อื่น
เวอร์จิเนีย ซาเทียร์ (Virginia Satir 1916-1988) นักเขียน ครู และนักจิตบำบัดอเมริกัน ผู้บุกเบิกแนวคิดจิตบำบัด ได้อธิบายกลไกที่เกิดขึ้นภายในจิตใจและการแสดงออกของมนุษย์เอาไว้ เพื่อทำความเข้าใจตนเอง ด้วยตัวตนภายในที่เป็นแกนกลาง เป็นแหล่งกำเนิดของประสบการณ์ภายใน ซาเทียร์พบว่าประสบการณ์ต่างๆมีหลายชั้นหรือหลายระดับดังนี้
- ความปรารถนา
- ความคาดหวัง
- การรับรู้
- ความรู้สึก
- การจัดการกับปัญหา
- พฤติกรรม
ประสบการณ์ทั้งหมดนี้เกิดขึ้นภายในบริบทที่เฉพาะเจาะจงของเรา ณ ช่วงเวลาหนึ่ง ตัวอย่างเช่น เรามักจะได้ยินผู้รับคำปรึกษาพูดว่า “อาจารย์ลำเอียง” การสำรวจคำบอกเล่าเรื่องราวนี้นำไปสู่เหตุการณ์ที่เฉพาะเจาะจงหนึ่งเหตุการณ์หรือมากกว่านั้น เช่น อาจารย์พูดคุยกับนักศึกษาอีกคน หรือเรียกนักศึกษาเข้าไปมอบหมายงานพิเศษ หรือให้เวลากับนักศึกษาคนอื่นมากกว่า ทำให้นักศึกษาคนที่มาขอรับคำปรึกษาสรุปว่าอาจารย์ลำเอียง
ความปรารถนาของนักศึกษาที่มารับคำปรึกษาคือการต้องการเป็นที่ยอมรับ เป็นที่รักอย่างเท่าเทียมกัน
ความคาดหวังของเขาคือถ้าอาจารย์รักเขาเท่ากับเพื่อนนักศึกษาอีกคน อาจารย์จะต้องเรียกเขาเข้าไปพูดคุยด้วยนอกเวลาในห้องเรียน และต้องมอบหมายงานพิเศษให้
การตีความของเขาคืออาจารย์ไม่ได้รัก และยอมรับในตัวเขา
ความรู้สึกของเขา คือ ความผิดหวังและเสียใจ และน้อยใจหรืออาจโกรธอาจารย์และเพื่อนอีกคน หรือเขาอาจมีความรู้สึกผิด ละอายใจต่อความรู้สึกโกรธที่มีต่ออาจารย์และเพื่อนร่วมด้วย
นี่เป็นตัวอย่างของผู้ให้คำปรึกษาที่นำซาเทียร์โมเดลเป็นตัวช่วยทำความเข้าใจผู้รับคำปรึกษา จากเรื่องราวเพื่อการสำรวจประสบการณ์หกระดับของผู้รับคำปรึกษาที่ส่งผลให้เกิดปัญหา
กลไกที่เกิดขึ้นภายในจิตใจและการแสดงออกของมนุษย์นั้นเปรียบเหมือนภาพภูเขาน้ำแข็ง ซึ่ง พฤติกรรมการแสดงออก หรือที่เรียกว่า “โลกภายนอกจิตใจ” นั้นเป็นเพียงยอดภูเขาเล็ก ๆ เท่านั้น เช่น คำพูด แววตา ท่าทาง เป็นต้น ส่วนที่เกิดขึ้นภายในจิตใจ หรือ “โลกภายในจิตใจ” นั้นจะมีมากกว่า และเมื่อมีสิ่งมากระทบ จึงเกิดปฎิกิริยาหรือพฤติกรรมที่ตอบโต้ ที่เรียกว่า รูปแบบการรับมือ คือ รูปแบบการจัดการปัญหาของตนเองที่มักแสดงเมื่อเจอกับปัญหา หรือกลไกการเอาตัวรอดต่างๆ เมื่อต้องเผชิญกับความกดดัน กลไกป้องกันตัวของแต่ละคนมักได้รับอิทธิพลมาจากประสบการณ์ในวัยเด็กหรือที่ได้รับจากครอบครัว
การรับมือ (Coping Stance) คือ วิธีคิดและกลไกป้องกันตัวเองที่มักแสดงเมื่อเจอกับปัญหา ต้องเผชิญกับความเครียด กลไกป้องกันตัวของแต่ละคนมักได้รับอิทธิพลมาจากประสบการณ์ในวัยเด็กหรือที่ได้รับจากครอบครัว
แบ่งได้ดังนี้
สมยอม กลไกประเภทนี้จะไม่สนใจตัวเอง มักยอมทำตามสิ่งที่ผู้อื่นร้องขอโดยไม่สนใจความรู้สึกตัวเอง เพื่อหลีกเลี่ยงการปะทะ การปฏิเสธ หรือความรู้สึกบาดหมางระหว่างกัน เคารพคนอื่น แต่ไม่เคารพตัวเอง
กล่าวโทษ คนใช้กลไกนี้จะใช้การตำหนิปิดบังความกลัว ยึดว่าสิ่งที่ตัวเองเชื่อถือคือสิ่งถูก เป็นผู้พิทักษ์ความถูกต้อง หลายครั้งนำไปสู่ความหวาดระแวงผู้อื่นโดยไม่รู้ตัว
เหตุผลล้ำ เป็นการป้องกันตนเองด้วยการสนใจที่เนื้อหาและความถูกต้องเป็นหลัก รู้และเข้าใจหลักการอย่างถ่องแท้ ไม่ทำงานด้วยความรู้สึก คนมักจะมองคนที่มีพฤติกรรมเหล่านี้ว่า เย็นชา เจ้าหลักการ
เฉไฉ คนใช้กลไกนี้จะดึงดูดความสนใจของตัวเองและคนอื่นให้หลุดออกจากความเครียดได้เก่ง อาจพบว่าเขาคือนักเอ็นเตอร์เทรน มีบุคลิกสนุกสนานเฮฮาและเข้าไปอยู่ร่วมกับผู้อื่นได้ทุกวง บทสนทนามักเป็นเรื่องทั่วไปแต่ไม่จับยึดที่แก่นเรื่อง บางครั้งดูกระวนกระวาย หรือมีปฏิกิริยาล้นเกิน
ประสิทธิผลของการให้คำปรึกษา นั้นแบ่งได้ตามลำดับความสำคัญ ดังนี้
Strength Resource คือ ทรัพยากรภายในที่เข้มแข็ง ด้วยการเข้าใจถึงตัวตนของตนเอง ตามภาพของ Virginia Satir ซึ่งทำให้ส่งผลต่อพฤติกรรมภายนอกของ ผู้ให้คําปรึกษา (Counsellor) เช่น ความมั่นคงภายในจิตใจ การเปิดกว้าง รับฟัง ฯลฯ ซึ่งส่งผลต่อประสิทธิผลถึง 40%
Relationship คือ ความสัมพันธ์ระหว่าง ผู้ให้คําปรึกษา (Counsellor) และ ผู้รับการปรึกษา (Client)
ตามบริบทของเนื้อหาการปรึกษา โดยบางเรื่องอาจจะต้องการความสัมพันธ์ที่เป็นมิตรและเป็นกลาง หรือบางเรื่องผู้ให้คำปรึกษาต้องไม่มีส่วนได้ส่วนเสีย ซึ่งความสัมพันธ์นี้หากใช้ให้เหมาะสมจะส่งผลต่อประสิทธิผลถึง 30%
Hope หรือ Encouragement คือ การให้ความหวัง หรือการให้กำลังใจแก่ผู้รับการปรึกษาจะส่งผลต่อประสิทธิผลประมาณ 15%
Technics คือ แนวคิดวิธีการตามทฤษฏีการให้คำปรึกษาต่าง ๆ จะส่งผลต่อประสิทธิผลประมาณ 15%
เทคนิคการให้คำปรึกษา
ในการเข้ารับคำปรึกษาแต่ละครั้งนั้น ตั้งแต่เริ่ม จนถึงการจบกระบวนการ หรือส่งต่อไปยังผู้ให้คำปรึกษาคนอื่น จะมีแนวทางปฏิบัติแบ่งเป็น 2 ส่วน ได้แก่ ส่วนของผู้รับการปรึกษา (Client) และส่วนของผู้ให้คําปรึกษา (Counsellor)
ส่วนของผู้รับการปรึกษา (Client) มีขั้นตอนดังนี้
- ต้องรู้สึกไว้วางใจ ยอมรับ ผู้ให้คำปรึกษา กระบวนการ บรรยากาศ
- สำรวจตนเอง
- กระจ่างแจ้งถึง ความรู้สึกภายใน หรือชั้นที่ลึกกว่านั้นอย่างแท้จริง
- รู้เป้าหมาย และวิธีการแก้ปัญหาด้วยตนเอง
- ตั้งใจนำไปปฏิบัติต่อไป
ส่วนของผู้ให้คําปรึกษา (Counsellor)
- สร้างสัมพันธภาพ เพื่อให้ผู้รับการปรึกษาไว้วางใจ ปลอดภัยที่จะเข้ารับคำปรึกษา
- การสำรวจปัญหาของผู้รับการปรึกษา ด้วยการถาม ทวน สะท้อนความรู้สึก หรือแม้แต่การเงียบเพื่อฟังอย่างเดียว
- เข้าใจปัญหา ความต้องการ ความรู้สึกภายในจิตใจของผู้รับการปรึกษา
- วางแผนแก้ปัญหา การแนะนำ การกำหนดวิธีการแก้ปัญหา หรือสอบถามให้ผู้รับการปรึกษาหาวิธีได้ด้วยตนเอง
- การยุติบริการ หรือส่งต่อ ด้วยการสรุป ให้กำลังใจ แก่ผู้รับการปรึกษา
การให้คำปรึกษา มักจะเป็นการฟัง แกะรอยเข้าไปถึงกลไกจิตใจภายในของมนุษญ์ ในบางครั้งอาจจะเป็นการไปกระตุ้นถึงความรู้สึก ตัวตนภายในของเรา และทำให้เกิดกลไกป้องกันตนเองขึ้น ตามภาพความสัมพันธ์ตัวเอง(self), คนอื่น (other) และบริบท (context) ดังนั้นผู้ให้คำปรึกษาควรจะต้องดูแลความรู้สึกของตนเองระหว่างการทำงานให้คำปรึกษา